ขี่หลังเสือ!?รัฐ-เอกชนฟันธงศก.ไทยโตแกร่ง ต่างชาติแห่เข้าไทย ๑๐ ล้าน ดันท่องเที่ยงบูม ส่งปี’๖๖ จีดีพี ๔-๕%

0

“อาคม” มองเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๖ โตแกร่ง ๔-๕% อานิสงส์ปลดล็อกโควิด-๑๙ หนุนท่องเที่ยว คาดปีนี้ต่างชาติแห่เข้าไทยทะลุ ๑๐ ล้านคน ห่วงขึ้นดอกเบี้ยกระทบประชาชน ทำรายได้โตไม่ทันรายจ่าย บี้บูมเศรษฐกิจโตช่วยลดหนี้ครัวเรือน ด้านเอกชนแจงเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คาดเงินเฟ้อปีหน้าแผ่วเหลือ ๒%

วันที่ ๑๙ ส.ค.๒๕๖๕ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวได้ที่ระดับ ๓-๓.๕% ซึ่งอยู่ในช่วงที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หลังจากไตรมาส ๒/๒๕๖๕ จีดีพีขยายตัวได้ ๒.๕% ถึงจะเป็นระดับที่ไม่สูงนัก แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปลดล็อกมาตาการควบคุมโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ ๘-๑๐ ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกก็ทำได้ดี แม้จะไม่ร้อนแรงเหมือนปีก่อน

โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุลที่ ๖.๙๕ แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ที่ขาดดุล ๗ แสนล้านบาท ภายใต้ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๖ จะขยายตัวได้ ๔-๕% โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ลดลงนั้น ถือเป็นสัญญาณที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่าในอนาคตต้องมีการลดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันก็ได้มีการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกันต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ควบคู่ไปด้วย

นายอาคม กล่าวว่า “การจัดทำงบประมาณ ต้องอยู่บนการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมามีเหตุการณ์เข้ามาแทรกซ้อนการระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดความขัดแย้งของจีนและไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาอาหาร รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จนทำให้ต้องเริ่มทำนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบกับประเทศอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะการส่งออก ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าด้วย” 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลพยายามพูดตลอด คือการเร่งกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกของไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดี โดยการค้าขายของไทยยังขยายตัวได้แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ จากการกระจายการส่งออกไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยในช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ การส่งออกในส่วนนี้ยังขยายตัวได้ ๒๐% ดังนั้นไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการค้าขายกับประเทศกลุ่มเล็กแถบลุ่มแม่น้ำโขง และกลุ่มใหญ่ คือประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ ๐.๒๕% ต่อปีนั้น หลายฝ่ายอาจจะมองว่าน้อยเกินไปและควรเป็น ๐.๕๐% ต่อปี สะท้อนว่าไทยได้ผ่านพ้นช่วงการใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย และเดินหน้าเข้าสู่การใช้นโยบายในภาวะปกติ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินนั้นชัดเจนว่าไม่ได้ดูแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือการไหลออกของเงินทุนเท่านั้น แต่ยังต้องชั่งน้ำหนักเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้นนั้น ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป โดยต้องยอมรับว่ามีทั้งส่วนที่รัฐบาลควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

ทั้งนี้ จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบกับ 3 กลุ่มหลัก คือ ๑. ประชาชนที่จะมีภาระเพิ่มขึ้นหากสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย แต่ที่ผ่านมาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยืนยันที่จะช่วยดูแลลูกค้าในช่วงที่ขาขึ้น โดยการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนการจะทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงได้นั้น ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้น ๒. ภาคธุรกิจ ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และ ๓. ภาครัฐ ที่ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคลังได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ บริหาร และยืดหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าไทยปี ๒๕๖๕ อาจจะขยายตัวได้ในระดับ ๓% หรือ มากกว่า ๓% เล็กน้อย ส่วนปี ๒๕๖๖ คาดว่าขยายตัวได้ ๔% อัตราเงินเฟ้อ ๒% ไม่รุนแรงเท่าปีนี้

นายอมรเทพ กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังขี่หลังเสือ มีทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน ปีนี้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจขึ้น จากปัจจัยหนุนหลักคือ การท่องเที่ยวที่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ ๑๐ ล้านคน และปี ๒๕๖๖ อยู่ที่ ๒๐ ล้านคน โดยมีปัจจัยเงินเฟ้อกดดันอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่วนเงินเฟ้อปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงได้” 

นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก ๒ ครั้ง แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่น่าจะขึ้นเร็วและแรง ขึ้นครั้งละ ๐.๒๕% เป็นการประคองเศรษฐกิจในขณะที่เงินเฟ้อสูง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในเรื่องการเมือง ที่ภายใน ๖ เดือนจะมีการเลือกตั้งใหม่ หากเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ หรือมีการยุบสภา จะทำให้โครงการลงทุนใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้ และช่วงรอลุ้นรัฐบาลชุดใหม่ ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติอาจจะชะลอการลงทุน ดังนั้นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

นายอมรเทพ กล่าวว่า การส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว ๗% แต่ปีหน้าไม่ได้โตเด่นเท่าปีนี้ โดยคาดว่าอยู่ที่ ๒-๓% เพราะความไม่แน่นอนในต่างประเทศ การขาดแคลนวัตถุดิบ ความไม่แน่นอนในตลาดโลกทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการส่งออก ส่วนสถานการณ์เงินบาทคาดว่าจะกลับมาแข็งค่ามากขึ้น โดยครึ่งหลังปีนี้ถึง ปี ๒๕๖๖ มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าที่ ๓๔.๕๐ บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายอมรเทพ กล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจไทยวันนี้จะโตมาจากการส่งออกและท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันภาพภายในประเทศยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น เพราะกำลังซื้อระดับล่างยังไม่ได้ฟื้น เมื่อเทียบกับระดับกลางและระดับบน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะคล้ายกับช่วงก่อนโควิด-๑๙ ดังนั้นต้องรักษาการกระจายตัวควบคู่ไปกับการเติบโต” อย่างไรก็ดี ต่อให้มีความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่อย่างน้อยเศรษฐกิจไทยยังไหลลื่นและผ่านไปได้ในปีหน้า เพราะยังมีการส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังคอยขับเคลื่อนไปได้ และต้องดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม เพื่อรักษาการเติบโตที่ ๔% ในปีหน้า แต่ต้องเป็นการเติบโตแบบกระจายตัว

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเข้าสู่ต่ำสุดในไตรมาส ๓/๒๕๖๕ โดยดัชนีหุ้นไทยลงไปราว ๑,๕๐๐ จุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา คือจุดต่ำสุดแล้ว หากเหตุการณ์ที่คาดการณ์เป็นจริง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. ๒๕๖๕ อีก ๐.๕๐% ต่อปี และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เป็นต้น แต่เชื่อว่าไตรมาส ๔/๒๕๖๕ ภาพรวมการลงทุนน่าจะเป็นช่วงที่ดีขึ้น สภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยผ่านช่วงเข้มข้นไปแล้ว ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจไทยเองก็ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น