หลังจากที่นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สื่อในภูมิภาคเอเชีย โดยเตือนว่า แม้ภูมิภาคเอเชียจะอยู่ห่างไกลจากสมรภูมิความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่ก็มีผลกระทบที่จะได้รับหากรัสเซียและวลาดิเมียร์ ปูติน มีชัยชนะเหนือยูเครน
ทั้งนี้คูเลบา เปิดเผยว่า ก่อนวันที่ 24 ก.พ. มีหลายสัญญาณบ่งชี้ว่าปูตินอาจรุกรานยูเครน ซึ่งผู้นำโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส และโอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนี ต่างถามปูตินว่า จะบุกยูเครนหรือไม่ “เขาตอบว่า ไม่ มันเป็นโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐฯ แต่สุดท้ายเขาก็บุกยูเครน เขาโกหกมาครง โกหกชอลซ์” หลายประเทศอาจมองว่าปูตินไม่ได้ทำอะไรชาติในเอเชีย หรือกระทั่งมีความสัมพันธ์อันดีด้วย แต่ทุกคนไม่สามารถไว้ใจรัสเซียได้
แม้ว่าคำขู่ของยูเครน จะออกมาเปิดเผยถึงผลกระทบที่ชาติเอเชียจะได้รับ แต่ก็น่าจับตามองสถานการณ์ในยูเครนว่า มาถึงทางตันแล้ว เมื่อผู้เชี่ยวชาญทางทหารชาวอเมริกันชี้ ยุโรปอาจมอบอาวุธส่วนใหญ่ซึ่งพร้อมให้แก่ยูเครนแล้ว จากนี้ไปเคียฟคงต้อง “ใช้กระสุนอย่างประหยัด” รวมทั้งมีความกังวลว่า ยูเครนอาจถูกกดดันให้ต้องยอมรับว่าถึงทางตันแล้ว หากปราศจากความสำเร็จที่ชัดเจนต้นปีหน้า
โดยเมื่อการเผยแพร่ในนิตยสารแดร์ชปีเกล ของเยอรมนี ฉบับวันอังคาร ที่ 17 ส.ค. 2565 ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของไมเคิล คอฟแมน นักวิเคราะห์ด้านการทหารชาวอเมริกันที่ได้รับความเชื่อถือกันมาก โดยเขาบอกว่า ยุโรปอาจจัดหาอาวุธจนถึงขอบเขตสูงสุดที่พวกเขาเต็มใจมอบให้ยูเครนแล้ว ไม่ใช่แค่ฝั่งยูเครนเท่านั้นที่ต้องการรอเวลาเนื่องจากสภาพอากาศกำลังจะเลวร้ายลงเร็ว ๆ นี้ทำให้การตอบโต้ยากขึ้น แต่ทางด้านรัสเซียเองก็อาจใช้ช่วงพักนี้สะสมกำลังใหม่และแก้ปัญหาบางอย่างด้านกำลังพล
เขาตั้งข้อสังเกตว่า เคียฟจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ถ้าการสนับสนุนของตะวันตกไม่มีขีดจำกัด แต่ดูเหมือนว่าไม่มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นและผู้นำยูเครนเองก็รู้ดี และกำลังกังวลอย่างมากว่า จะคาดหวังการสนับสนุนเพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพันธมิตรตะวันตกได้อีกนานแค่ไหน
คอฟแมนสำทับว่า ยุโรปอาจมอบอาวุธส่วนใหญ่ที่พร้อมให้ยูเครนแล้ว และอาจทำให้จากนี้ไป เคียฟ ต้อง “ใช้กระสุนอย่างประหยัด” ดังนั้น ผู้นำในเคียฟจึงกังวลว่า ยูเครนอาจถูกกดดันให้ต้องยอมรับว่าถึงทางตันแล้วหากปราศจากความสำเร็จที่ชัดเจนต้นปีหน้า โดยสภาพเช่นนี้จะเท่ากับการพ่ายแพ้ในสงคราม