หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤติโควิด ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก หลั่งไหลทะลักเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ส่งผลหนุนเงินบาทแข็ง จนสื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี 2565 เงินบาทจะเเข็งค่าสุดในชาติเอเชีย
โดยบลูมเบิร์ก รายงานว่า ค่าเงินบาทไทยดีดตัวฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากอานิสงส์เชิงบวกของการเติบโตจากการท่องเที่ยว ที่ได้บรรลุตัวเลขเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ตั้งไว้ในช่วงปลายปีเเล้ว อีกด้านหนึ่งส่งผลให้เงินบาทเเข็งค่าขึ้นกว่า 2.3% มาอยู่ที่ประมาณ 35.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้ (สิงหาคม) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านำหน้าสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียเเบบทิ้งห่าง นอกเหนือจากการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแล้ว การก้าวกระโดดของค่าเงินบาท ยังได้รับแรงหนุนจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอันเนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก ชี้ว่าการแข็งค่าของเงินบาท เเสดงว่าค่าเงินบาทได้เเตะระดับที่คาดการณ์ไว้สำหรับไตรมาสที่ 4 ที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เรียบร้อยเเล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ยังส่งผลต่อการถกเถียงว่าค่าเงินดอลลาร์ได้เเข็งค่าขึ้นเเล้วหรือไม่ เนื่องจากนักวิเคราะห์กำลังเริ่มชั่งน้ำหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับสู่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทำให้เห็นการไหลออกของเงินทุนในขณะที่สหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนเเรง
มิตุล โคเทชา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ของธนาคาร TD Securities ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เราคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น เเม้ว่าเราจะระมัดระวังเกี่ยวกับการพุ่งตัวของค่าเงินในระดับปัจจุบัน เนื่องด้วยอัตราการพุ่งขึ้นที่รวดเร็วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่การฟื้นตัวของค่าเงินได้รับเเรงหนุนจากปัจจัยต่าง ๆ รวมกัน ตั้งเเต่ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งค่าขึ้น ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังเน้นย้ำด้วยว่าเงินบาทยังคงมีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างไร โดยเงินบาทได้อ่อนค่าลงกว่า 0.5% ระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ ในส่วนที่สำคัญ และหลังจากรายงานระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นอ่อนแอกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้
นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยได้เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนเมษายน-มิถุนายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.1% ของการขยายตัวจากการสำรวจของบลูมเบิร์ก
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ส่วนทางด้านโฆษกรัฐบาลไทย กล่าวว่า ทางการคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 10 ล้านคนในปีนี้ เทียบกับการคาดการณ์ที่ 6.1 ล้านคนเมื่อเดือนเมษายน ชาวต่างชาติยังถูกมองว่าอาจเพิ่มถึง 30 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งยังน้อยกว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยกว่า 40 ล้านคนใน 1 ปีก่อนการเเพร่ระบาดของโควิด- 19 การฟื้นตัวดังกล่าวนั้นสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจของประเทศก่อนเกิดโรคระบาด เเละการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะปรับลดระดับโรคโควิด- 19 ให้อยู่ในประเภทเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก เนื่องจากมันเเสดงให้เห็นว่าเเนวโน้มด้านสาธารณสุขของประเทศกำลังมีเสถียรภาพ