หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตะวันตกเข้าขั้นวิกฤติตั้งแต่นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยไม่สนเสียงคัดค้านของปักกิ่ง ทั้งนี้ จีนอ้างว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของดินแดนและคัดค้านการเดินทางเยือนเกาะแห่งนี้ของบรรดานักการเมืองต่างชาติ โดยทางไต้หวัน ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีน
ในความเคลื่อนไหวตอบโต้การเดินทางเยือนของเปโลซี จีนกำหนดข้อจำกัดทางการค้าและเปิดการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่รอบไต้หวัน เช่นเดียวกับกำหนดมาตรการคว่ำบาตรนางเปโลซี นอกจากนี้ ปักกิ่งยังคว่ำบาตรรัฐมนตรีลิทัวเนียรายหนึ่ง ซึ่งเดินทางเยือนไต้หวัน ตามหลังเปโลซีไม่กี่วัน
ต่อมาจีนบอกว่าการเดินทางเยือนกรุงไทเปอีกรอบของคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมาเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเกี่ยวกับแผนการเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา สถานทูตจีนในกรุงออตตาวายังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ในขณะที่รอยเตอร์ส่งอีเมลไปสอบถามความเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปในแคนาดา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาเช่นกัน
สโร เผยว่าสมาชิกคณะกรรมาธิการรัฐสภาในด้านการค้า กำลังวางแผนเดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง “เจตนาคือไม่ก่อความวุ่นวายและก่อปัญหาใด ๆ แก่ไต้หวัน หรือสร้างปัญหาให้จีน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้า มันเป็นเรื่องของมิตรภาพ มันเป็นเรื่องโอกาสของแคนาดา และเป็นเรื่องของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งมวล” เจ้าตัวอ้างว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแคนาดา เดินทางเยือนไต้หวันทุก 2 ปีอยู่แล้วในอดีต แต่ในช่วงหลังต้องหยุดไป สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
“นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ของเรา ในการหาทางรับประกันว่าประตูสำหรับโอกาสทางการค้าจะเปิดต้อนรับบริษัทต่าง ๆ ของแคนาดา”
ด้าน แรนดี โฮแบ็ค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และรองประธานคณะกรรมาธิการการค้า บอกว่าเขาจะขอคำแนะนำจากกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะตัดสินใจเยือนไต้หวัน “ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องกลับสู่ภาวะปกติในหลายสิ่งหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กันจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง”
เหตุเผชิญหน้ากันนานหลายปีระหว่างแคนาดากับจีนสิ้นสุดลงเมื่อปีที่แล้ว หลังคณะอัยการสหรัฐฯ เห็นพ้องยุติคดีฉ้อโกง เมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารของ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ นักธุรกิจหญิงคนดังของจีน โดยก่อนหน้านั้น เธอถูกกักบริเวณในแคนาดา ระหว่างกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
หลังจาก เมิ่ง ได้รับอิสรภาพ จีนได้ปล่อยตัวชาวแคนาดา 2 คน ซึ่งถูกปักกิ่งควบคุมตัวตามข้อกล่าวหาจารกรรม
รัฐบาลแคนาดาของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด บอกว่าเคารพการตัดสินใจของบรรดา ส.ส. หากเดินทางเยือนไต้หวัน แม้ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาระบุในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังการเยือนไทเปของเปโลซี อาจบ่อนทำลายทำลายเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และเรียกร้องให้ปักกิ่งผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงเครียด