กลายเป็นประเด็นที่เดือดระอุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคณะ ส.ว. และ ส.ส.อเมริกัน ท้าทายจีนอีก โดยได้มีการเดินทางไปถึงไต้หวัน เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 14 ส.ค.เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งพวกเขาจะเข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ด้วย ทั้งนี้ถือว่าเป็นคณะสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯชุดแรก ซึ่งมาที่เกาะที่จีนถือเป็นมณฑลกบฏของตนแห่งนี้ เพียง 12 วันหลังการเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ซึ่งสร้างความเดือดาลให้แก่จีน และแสดงปฏิกิริยาด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่โตชนิดที่ไม่เคยกระทำมาก่อน
แม้ว่าประธานาธิบดี โจไบเดน จะไม่ออกตัวพูดถึงประเด็นเหล่านี้มากนัก แต่สังคมส่วนใหญ่ต่างจับตามองและเชื่อว่า เจ้าตัวรู้เห็นต่อเหตุการณ์ที่แนนซี เปโลซีและคณะส.ว. ต้องการมาเยือนไต้หวัน แม้เจ้าตัวจะพูดเป็นนัย ๆ ว่า ไม่มีสิทธิ์ไปสั่งห้ามไม่ให้เดินทางก็ตาม
ล่าสุดจีนยังคงทำคะแนนสูงลิ่ว เมื่อมีผลสำรวจชี้ว่า เศรษฐกิจจีนจะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยการสำรวจซึ่งร่วมกันจัดทำโดยซีจีทีเอ็น ธิงค์แท้งค์ (CGTN Think Tank) และสถาบันความคิดเห็นสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 78.34% จาก 22 ประเทศ เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก การสำรวจได้สัมภาษณ์ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุเฉลี่ย 38.64 ปี จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้
กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจมีการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดย 54.71% มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และ 15.22% มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 91.46% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากแอฟริกาต่างชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก โดยเชื่อว่าจีนได้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ส่วนผู้ตอบแบบสำรวจจากยุโรปตามมาไม่ห่างที่ 81.6% ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจจากอเมริกาเหนืออยู่ในอันดับสามที่ 78.09%
ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 84.13% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ต่างชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก ขณะเดียวกัน 84.02% ของผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศกำลังพัฒนามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีน ในแง่ของความคาดหวังในอนาคตนั้น 76.23% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
ส่วนทางระเบียบโลกในอนาคต มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 6.31% ที่เชื่อว่าโลกจะเป็นขั้วเดียวในอนาคตและถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา ขณะที่ 34.55% ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดว่าโลกแบบหลายขั้วมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากที่สุด
ผู้ตอบแบบสำรวจ 56% จากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่เชื่อว่า เหตุผลที่แท้จริงที่นักการเมืองในโลกตะวันตกส่งเสริมแนวคิด “ภัยคุกคามจากจีน” เป็นเพราะ “ความกดดันและความวิตกกังวล” ที่มีต่อการผงาดขึ้นมาของจีน
แนวคิดของจีนว่าด้วย “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน” ซึ่งให้ความสำคัญกับมนุษยชาติในภาพรวม และแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ได้รับการสนับสนุนจากผู้ตอบแบบสำรวจ 61.29%
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของจีน ในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วของจีนนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจประทับใจมากที่สุดกับการพัฒนา 5G ปัญญาประดิษฐ์ และรถไฟความเร็วสูง ในแอฟริกา ผู้ตอบแบบสำรวจ 73.87% รู้สึกประทับใจ 5G ของจีนมากที่สุด และ 55.28% ยกย่องรถไฟความเร็วสูงของจีน ส่วนในยุโรป ผู้ตอบแบบสำรวจ 52.77% รู้สึกประทับใจกับความก้าวหน้าของจีนในด้านปัญญาประดิษฐ์
อีกทั้งยังมีเกณฑ์ตอกย้ำว่าชาวจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นจาก 6,100 ดอลลาร์ เป็นมากกว่า 12,000 ดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจ 76.65% มองว่าน่าทึ่งมาก และกว่า 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจจาก 5 ทวีปเชื่อว่าจีนกำลังร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ผู้ยากไร้ในชนบทเกือบ 100 ล้านคนในจีนได้รับการช่วยเหลือจนหลุดพ้นจากความยากจนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเพราะเหตุผลหลักสองประการคือ เศรษฐกิจจีนสามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างรวดเร็ว และผู้นำจีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้
ผลสำรวจระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนของจีน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 57.36% เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “จีนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทางปฏิบัติตามความเป็นจริงเสมอมา”