มหาดไทย ลงนาม MOU ผนึก 7 ฝ่าย หนุนใช้วัสดุปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ลดก๊าซเรือนกระจก

0

มหาดไทย ลงนาม MOU เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สำหรับการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกัน 7 ฝ่าย เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากที่วันนี้ (9 ส.ค. 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก

สำหรับการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย พร้อมร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 7 ฝ่าย โดยมี นายสุเมธ มีนาภา

รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ประธานคณะกรรมการบริหารสันนิบาตเทศบาลภาคกลาง ผู้แทนนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายสำราญ จันทร์ขจร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อุปนายกภาคกลาง สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย

ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) บูรณาการความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแต่ละภาคส่วนที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครอง-ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(2) ส่งเสริมสนับสนุนให้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้าง ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบ คู่มือมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน (3) ร่วมกันจัดทำข้อมูลสำหรับการติดตามและประเมินผลการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

และ (4) ร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้งานวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างประเภทต่างๆ ของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่มาของการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ตนได้รับเกียรติเป็นประธานร่วมและกล่าวสนับสนุนต่อความร่วมมือดำเนินงานในพิธีประกาศ ‘MISSION 2023’ ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และภาคีเครือข่าย อาทิ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตนได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ขององค์การสหประชาชาติ อันถือเป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลก

โดยประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26อย่างชัดเจนว่า “เราไม่มีแผนสำรอง No plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ”

ด้วยการทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ดังนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเราจะต้องทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดน้อยลง อาทิ การบริหารจัดการขยะต้นทางอย่างถูกต้อง โดยการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน

ขณะเดียวกันต้องช่วยกันเพิ่มกิจกรรมในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ของคนในสังคมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การปลูกต้นไม้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งช่วยทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นปัจจัยเกื้อกูลเสมือนยาอายุวัฒนะให้แก่โลกใบนี้ หรืออาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การปล่อยของเสียเป็นเหมือนรายจ่าย การสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีเป็นเหมือนรายได้ ที่คนเราต่างมุ่งไปในทางเดียวกัน คือ ช่วยกันลดรายจ่ายให้น้อยลง ช่วยกันเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือทำให้ดุลของรายได้มีเพิ่มมากกว่ารายจ่ายจะเป็นการดีนั่นเอง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อทำให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เชิญนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาร่วมประชุมหารือการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิก

สำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ณ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้

เนื่องจากปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่ง คือ ผู้นำที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด นั่นคือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีอุดมการณ์ (Passion) เป็นผู้นำพี่น้องประชาชนทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนเป็นวิถีชีวิต รวมทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ในการใช้ปูนซีเมนต์ดังกล่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สำหรับในส่วนของมาตรฐานงานก่อสร้าง มีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นส่วนราชการทำหน้าที่วางระเบียบ (Regulator) และมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนราชการทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อบูรณาการความร่วมมือดังกล่าวขึ้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะมีพิธีลงนามในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภท GU (General Used) 100% ในการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ โดยประมาณการสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 2,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 300,000 ต้น หรือกว่า 1,500 ไร่

พร้อมกันนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีการแจ้งจังหวัดทุกจังหวัดให้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่วิดีโอแนะนำปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน (ไฮดรอลิก) เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาการนำปูนซีเมนต์ดังกล่าวตามกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร มยผ. 1101 – 64 ถึง มยผ. 1106 – 64 ของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาใช้ในการก่อสร้าง เช่น ถนน อาคาร รางระบายน้ำ และลานกีฬา เป็นต้น และแจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วยแล้ว

 

นอกจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน (ไฮดรอลิก) ในการก่อสร้างของหน่วยงานรัฐภายในจังหวัด และอยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยด้วย

ท้ายนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ จะเป็นการเน้นย้ำความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ที่จะเป็นภาคีเครือข่ายในการบูรณาการความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การสนับสนุนเครื่องมือ และกลไกที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างของส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกของเรา เพื่อรักษาไว้ให้ลูกหลานของเราและมนุษยชาติในอนาคตต่อไป