ศาลปกครองยกคำร้อง “บีทีเอส” ไม่ห้าม รฟม.ประมูล “สายสีส้ม” รอบใหม่ ตามคำขอทุเลาการใช้ RFP และประมูลรอบสอง ชี้ไม่มีเหตุสมควรและจะเกิดความเสียหายต่อการบริหารงานภาครัฐ คาด กก.36 เดินหน้าเปิดซอง
วันที่ ๙ ส.ค.๒๕๖๕ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ ๘ ส.ค.๒๕๖๕ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๔๖/๒๕๖๔ คดีหมายเลขแดงที่ /๒๕ ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ ๑ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ ๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีบริษัท บีทีเอส ยื่นศาลขอทุเลาการบังคับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ โดยศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้เห็นว่าเนื่องจากยังไม่สามารถคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่พิพาทได้ จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา (Care of Work) ซึ่งประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายที่ต้องใช้จ่ายในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา เฉลี่ยเดือนละ ๔๑.๒๖ ล้านบาท กรณีจึงรับฟังได้ว่า หากมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ดังนั้น กรณีนี้จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของบีทีเอส คาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ จะเดินหน้าการพิจารณาด้านคุณสมบัติ และประกาศผลและเข้าสู่การเปิดข้อเสนอซองที่ ๒ ด้านเทคนิค และพิจารณาข้อเสนอต่อไปตามขั้นตอน
รายงานข่าวจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าตามที่ รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ โดยต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย
และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็น โดยสรุปดังนี้
๑. การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ.๒๕๖๓
๒. ประกาศเชิญชวนฯ ได้เผยแพร่ตามขั้นตอนเป็นระยะเวลากว่า๖๐ วันก่อน
กำหนดวันเปิดรับซองเอกสารในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๓
๓. ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปเพื่อให้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒
๔. ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ทั้งในและต่างประเทศ รวม ๑๔ ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP เพียง ๑๐ ราย
๕. การเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องเป็นกรณีที่มีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมลงทุน ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ
สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งภายหลังจากการรับซองเอกสารข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่มีเอกชน ๒ รายยื่นข้อเสนอ และได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ ๑ ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินของ รฟม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง ๓๕.๙ กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง ๒๒.๕ กิโลเมตร จำนวน ๑๗ สถานี (สถานีใต้ดิน ๑๐ สถานี และสถานียกระดับ ๗ สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง ๑๓.๔ กิโลเมตร จำนวน ๑๑ สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)