หลังจากที่ไต้หวัน ประกาศผ่านสื่อว่าขอให้คำมั่น ว่าจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากจีน หลังจีนทำการซ้อมรบทางทะเลและอากาศในพื้นที่รอบไต้หวันติดต่อกันหลายวัน โดยจีนตั้งเป้าซ้อมรบต่อเนื่องแม้กลุ่มผู้นำโลกเรียกร้องให้ยุติการกระทำดังกล่าวด้วย
โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุด้วยว่า การซ้อมรบของจีนเป็นการจำลองการโจมตีแผ่นดินไต้หวันและเรือของไต้หวัน นอกจากนี้ จีนยังได้ส่งโดรนขึ้นบินใกล้เกาะรอบนอกของไต้หวันด้วย ซึ่งไต้หวันตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินและเรือออกไป พร้อมเฝ้าระวังและลาดตระเวนเพื่อจับตาดูสถานการณ์
ล่าสุดอีกหนึ่งประเทศ คือออสเตรเลีย ได้แสดงตัวจะปกป้องไต้หวันตามรอยสหรัฐฯ โดยนายแอนดรูว์ ฮาสตี รัฐมนตรีเงาแห่งกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย อดีตผู้ช่วยกลาโหมปี 2020 ถึง เดือนพฤษภาคม 2022 ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียว่า แนวโน้มเชิงกลยุทธ์ของจีนนั้นเยือกเย็นมาก มันถูกขับเคลื่อนโดยจีนที่กำลังเติบโต จากทั้งความทะเยอทะยานและการขยายตัวเอง นั่นคือเหตุผลที่ออสเตรเลียต้องการขีปนาวุธที่มีวิถีไกลถึงศัตรูได้ เพื่อปกป้องอธิปไตยของตัวเอง ซึ่งออสเตรเลียจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ให้มากขึ้นร่วมกับสหรัฐและสหราชอาณาจักรเพื่อการช่วยเหลือในการต่อต้านจีน นอกจากนี้ ออสเตรเลียก็ต้องพัฒนาขีปนาวุธของตัวเองด้วยเช่นกัน
ออสเตรเลียควรเตรียมพร้อมที่จะปกป้องไต้หวันจากจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นไปด้วยหลักการในการปกป้องเพื่อนบ้านแล้ว ก็ยังเป็นหลักการที่จะเกิดผลประโยชน์แก่ตัวเองด้วย เพราะถ้าออสเตรเลียไม่ยืนหยัดเพื่อคนอื่น แล้วใครจะมายืนหยัดให้กับออสเตรเลีย ทั้งนี้ แม้ออสเตรเลียจะไม่ได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แต่ทั้ง 2 ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการโดยพฤตินัยไว้ ผ่านสำนักงานและสถาบันต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสถานทูตและสถานกงสุลระหว่างกัน
สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, และออสเตรเลียลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงออคุส ร่วมกันเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นด้วยการจัดหาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย ซึ่งฮาสตีได้เรียกร้องมาตลอดว่า ให้รัฐบาลมุ่งเป้าหมายในเรื่องการส่งมอบเรือดำน้ำให้เร็วที่สุด ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งของจีน ก็มองเรื่องสนธิสัญญานี้ จะกลายเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งความไม่มั่นคงในภูมิภาค และก่อให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธในอนาคตต่อไป