คำถามที่สังคมไทยมีสิทธิ์ตั้งคำถาม “สื่อ-นักวิชาการ-พรรคอนาคตใหม่”
สถาบันทิศทางไทย
สถาบันทิศทางไทยเป็นองค์กรสังคมที่ไม่แสวงกำไร เกิดขึ้นจากเจตนารมย์ร่วมกันของบุคคลหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ หลากหลายรุ่น ด้วยจุดประสงค์ที่ตรงกันเพื่อปฏิวัติความคิดของสังคมไปสู่ทิศทางที่เป็นสัมมาทิฐิ นำพาสังคมไทยก้าวเดินไปในทิศทางตามรอยพระยุคลบาท โดยไม่ตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับใครหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
การแถลงข่าวของพรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ที่พาดพิงถึงสถาบันทิศทางไทยกับสื่อเครือเนชั่นนั้น สถาบันทิศทางไทยยืนยันว่าผู้ร่วมก่อตั้งและคณาจารย์ของสถาบันสายสื่อมวลชนนั้นได้แสดงเจตนารมย์ชัดเจนในการเข้าร่วมดำเนินการกับสถาบันฯโดยเป็นการตัดสินใจในนามส่วนตัว และเป็นไปโดยเปิดเผย
โดยเชื่อว่าประสบการณ์ของตนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าอบรมและประชาชนทั่วไปที่รับข้อมูลข่าวสารของสถาบันได้ ดังปรากฏหัวข้อ “ทักษะการสื่อสารใน New Media” เป็นหนึ่งในวิชาที่สถาบันได้อบรมให้ความรู้แก่สาธารณะ
สถาบันทิศทางไทยมีจุดยืนและหลักคิดที่ชัดเจนโดยไม่ได้บังคับให้ใครต้องเชื่อตามทั้งหมด และเปิดต่อการให้สังคมสามารถวิพากษ์ ตั้งคำถาม เห็นด้วยหรือโต้แย้งได้อย่างเป็นสาธารณะบนการถกเถียงด้วยเหตุผล ซึ่งในขณะเดียวกันการนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงของพรรคอนาคตใหม่ ต่างหากที่ควรต้องถูกตั้งคำถามจากสังคมเช่นกัน
(1)
คำถาม 1 คือ จุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้ว่าบุคคลในพรรคจะออกมายืนยันถึงความจงรักภักดีในการแสดงออกต่อสาธารณะในช่วงหลังๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าบุคคลเหล่านี้เคยมีท่าทีและทัศนะอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อน
พฤศจิกายน 2561 นายธนาธรได้ระบุไว้ในหนังสือ Portrait ธนาธร (ผู้เขียน: วรพจน์ พันธุ์พงศ์ สำนักพิมพ์: บางลำพู) ที่ได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขว้าง เป็นข้อเท็จริงที่นายธนาธรได้ทำขึ้นมาเอง ในหน้าที่ 277 นายธนาธรระบุว่า “มีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรอง (กับ)××××”
24 มกราคม 2555 การมีทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของนายปิยบุตร ขณะนั้นเป็นหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้กล่าวว่าหากประเทศไทยเลือกที่จะเดินตามทางประชาธิปไตย ก็ต้องปรับตัว กษัตริย์หรือประมุขของรัฐจะมีพระราชดำรัสสดต่อประชาชนไม่ได้
สิ่งที่กษัตริย์จะตรัสต่อประชาชน จึงควรเป็นสิ่งที่ยกร่างขึ้นโดยฝ่ายบริหารเป็นข้อเท็จจริงที่นายปิยบุตรกล่าวขึ้นเองตั้งแต่ก่อนมาเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
25 พฤศจิกายน 2553 น.ส.พรรณิการ์ ก็ได้แสดงความคิดเห็น กิริยามิบังควร ตอนรับปริญญา รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นการกระทำของน.ส.พรรณิการ์ของน.ส.พรรณิการ์เองทั้งสิน
และหลังจากเข้ามาในรัฐสภา พรรคอนาคตใหม่ได้ใช้เวทีรัฐสภาและบทบาทส.ส. ตั้งประเด็นที่ล่อแหลมและแสดงนัยกระทบกระทั่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หลายครั้ง เช่น
4 สิงหาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ วางกรอบ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์
15 กันยายน 2562 โฆษกพรรคกล่าวว่ารัฐธรรมนูญเฮงซวยทั้งฉบับ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์
18 กันยายน 2562 พรรคอนาคตใหม่อภิปรายปมถวายสัตย์ไม่ครบ – แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
28 กันยายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ร่วมเวทีนักวิชาการเสนอแก้มาตรา 1- แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
17 ตุลาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่อภิปราย พ.ร.ก.โอนกำลัง – แตะหมวดพระมหากษัตริย์ (โดยนัย)
17 ตุลาคม 2562 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่70 คน โหวต “ไม่เห็นด้วย” กับ พ.ร.ก.โอนกำลังฯ การยกมือ “ไม่เห็นด้วย” ต่อ พ.ร.ก.โอนกำลัง ก็เป็นที่ชัดเจนว่า การท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมิใช่เป็นเพียงทัศนะหรือความคิดเห็นของตัวบุคคลบางคนในพรรคอีกต่อไป
แม้ปากจะบอกว่าไม่ใช่พวกล้มเจ้า ไม่ได้ชังชาติ แต่ยังคงแสดงพฤติกรรมเป็นอีกอย่าง จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกที่สังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคำถามว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีจุดยืนแท้จริงอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์?
(2)
คำถามที่ 2 คือ ความเกี่ยวโยงกับสื่อที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่
ขณะที่พรรณิการ์พยายามเชื่อมโยงสื่อในเครือเนชั่นกับพรรคพลังประชารัฐ พรรณิการ์ก็ต้องไม่ลืมว่า หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้นมีความเชื่อมโยงอยู่กับสื่อในเครือมติชน โดยมารดาของธนาธรนั้นยังถือหุ้นสื่อเครือมติชน แม้ธนาธรจะลาออกจากกรรมการบริหารมติชนไปก่อนมาลงเล่นการเมืองแล้วก็ตาม
2 พฤษภาคม 2556 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซื้อหุ้นมติชนต่อมาจาก แกรมมี่ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) 35,836,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 11.11 บาท คิดเป็น 19.33% เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 (แม้ราคาหุ้นเมื่อต้นปี 2562 จะเหลือเพียง 4.88 บาท)
28 มิถุนายน 2556 ธนาธร เข้าไปเป็นกรรมการ(บอร์ด) มติชน
14 มีนาคม 2561 ธนาธร ลาออกจากกรรมการมติชน เพื่อมาตั้งพรรคการเมือง (รวมเวลาที่ธนาธรเป็นกรรมการในเครือมติชน 5 ปี)
15 มีนาคม 2561 ธนาธร ปิยบุตร เปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ (เปิดตัวอย่างเป็นทางการ 1 ตุลาคม 2561)
ซึ่งการนำเสนอข่าวของสื่อในเครือมติชน (มติชน มติชนสุดสัปดาห์ และข่าวสด) ในลักษณะการรายงานที่เป็นคุณต่อพรรคอนาคตใหม่ อาทิ
ข่าวสด รายงานข่าวของ บีบีซี ว่า “แก้รัฐธรรมนูญ : เพราะเหตุใดข้อเสนอแก้ไข รธน. มาตรา 1 จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว” (6 ตุลาคม 2562)
มติชนสุดสัปดาห์ รายงานข่าวปกป้องนายธนาธรจากกรณีการถือหุ้นวีลัคว่า “สื่อ”ในเครือข่าย พลังประชารัฐ กับอดีตสื่อ ธนาธร อนาคตใหม่ (17 พฤศจิกายน 2562)
นั้นก็เป็นสิ่งที่สังคมพึงตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามได้เช่นกัน
(3)
คำถามที่ 3 บทบาทของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในแนวทางวิพากษ์ความคิด “กษัตริย์นิยม” ที่ใช้ความเป็นนักวิชาการออกมาสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่
29 มกราคม 2552 1,094 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางความคิด กับกลุ่มคนที่คัดค้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
15 มกราคม 2555 112 นักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน (ในนาม คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112)) ลงชื่อสนับสนุนให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์เข้าสู่รัฐสภา
21 กันยายน 2557 60 นักวิชาการจาก 16 มหาวิทยาลัย ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกประณามการที่ทหารและตำรวจบังคับให้ยุติงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
30 มกราคม 2560 352 นักวิชาการ (ในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)) ลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112
14 สิงหาคม 2560 128 นักวิชาการ (ในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)) ออกแถลงการณ์กรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบสวนนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเพื่อนในเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิต
5 เมษายน 2562 กลุ่ม 69 นักวิชาการออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลหยุดคุกคามพรรคการเมือง-แทรกแซงเลือกตั้ง โดยที่ในแถลงการณ์กลับระบุถึง “กระแสกดดันต่อพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 3 ในการเลือกตั้ง” อย่างชัดเจน
9 ตุลาคม 2562 กลุ่ม 268 นักวิชาการ (เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง) ลงชื่อคัดค้านการฟ้องคดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความฐานยุยงปลุกปั่น อันเนื่องมาจากการอภิปรายเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1.
โดยรายชื่อนักวิชาการกลุ่มนี้มักปรากฏรายชื่อเดิม และโดยที่หลายคนเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ด้วย เช่น
-เกษียร เตชะพีระ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
-ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
-ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
-ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
-ภัควดี วีระภาสพงษ์ (นักวิชาการอิสระ)
-สมชาย ปรีชาศิลปะกุล (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
-อนุสรณ์ อุณโณ (คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) (เป็นสามีของ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1)
นอกจากนี้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตซะพีระ, อุเชนทร์ เชียงเสน ยังเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่อีกด้วย
การที่นักวิชาการจะออกมาสนับสนุนความคิดการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดย่อมมิใช่เรื่องผิดแปลกและสามารถทำได้ ซึ่งความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ของนักวิชาการกลุ่มเดิมและเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่สังคมสามารถตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามได้ในลักษณะเดียวกันกับที่โฆษกพรรคอนาคตใหม่ออกมาตั้งคำถามกับนักวิชาการกลุ่มอื่นๆ
(4)
คำถามที่ 4 การร่วมกันนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยการตีความและนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความจริง หรือตั้งใจให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือที่เรียกกันว่า การเมืองยุคหลังความจริง (Post-truth Politics)
เป็นข้อเท็จจริงอย่างที่ยากปฏิเสธว่าเครือข่ายสื่อของพรรคอนาคตใหม่นั้นแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
ในเบื้องต้นนั้น พึงต้องเข้าใจภาพรวม กลไกสื่อของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งในภาพรวม ประกอบด้วย
-ตัวบุคคลของพรรค (ธนาธร, ปิยบุตร, พรรณิการ์, พิธา ฯลฯ)
-กลุ่มคณาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายฟ้าเดียวกัน และเครือข่ายนักวิชาการปฏิกษัตริย์นิยม ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่
-สื่อหลักที่สนับสนุนหลักคิดและแนวทางของพรรค (มติชน, ข่าวสด, ประชาไท, VoiceTV, iLaw, BBCไทย)
-สื่อนิวมีเดียและ influencers ที่สนับสนุนหลักคิดและแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ (เพจ พรรคอนาคตใหม่และเพจเครือข่ายสาขาพรรค, The Standard, The Matter, The Momentum, เพจ Drama Addict, เพจ พระเจ้า ฯลฯ)
และ
-กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ใน New Media ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่นับถึงการระดมกลุ่มผู้สนับสนุนในนิวมีเดียเข้าคุกคามและกลั่นแกล้ง (bully) บุคคลที่มีความเห็นต่างทางความคิดของตน (เช่น กรณี อุ๊ หฤทัย, กรณี ปั้นจั่น, กรณี อ้น สราวุธ(ถ่ายรูปคนไม่ยืนในโรงหนัง))
โดยที่เนื้อหาที่มีการเผยแพร่ เช่น การสนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย, การต่อต้านรัฐประหาร, การปฏิวัติ 2475, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519, ตุลาการภิวัฒน์, ปีญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้, แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1, รัฐธรรมนูญเฮงซวยทั้งฉบับ, เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาทกรรม, งบประมาณทหาร, ภาวะเศรษฐกิจ(ไม่ดี), โจมตีภาพลักษณ์นายกฯและ คสช., เรื่องทหาร(ที่ไม่ดี), การสนับสนุนม็อบนักศึกษาฮ่องกง, การไม่ยืนเคารพในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ อันเป็นการตีความหรือนำเสนอแง่มุมของเรื่องนั้น ๆเพียงด้านเดียว(ตามแนวทางหรือแง่มุมที่ต้องการให้เข้าใจ) หรือตัดตอนมาพูดเฉพาะประเด็นที่ต้องการ (เช่นไม่พูดถึงการทุจริตของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์) หรือกระทั่งบิดเบือนข้อเท็จจริง (เช่น รองหน.พรรคอนาคตใหม่ ที่แชร์ข่าวปลอมเรื่องกาแฟแก้วละหมื่น) อันเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “การเมืองแบบหลังความจริง” (Post-truth Politics)
โดยมีการสนับสนุนกันเองแบบละเลยความจริงเชิงอัตวิสัย (objective truth) ระหว่าง พรรค-สื่อหลัก-สื่อนิวมีเดีย-นักวิชาการ ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะในวงกว้าง เช่น การก้าวล่วงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง, การสืบภารกิจ 2475, ประเทศประชาธิปไตยแล้วเศรษฐกิจจะดี, ฯลฯ
ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้จึงจำเป็นยิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถาม และตรวจสอบ “พรรค-สื่อ-นักวิชาการ อนาคตใหม่” เพื่อคัดง้างและทำให้เกิดข้อเท็จจริงในด้านที่ถูกปิดบังปรากฏชัดเจนขึ้นเพื่อประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลจากทุกด้านเพื่อใช้วิจารญาณพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ท้ายสุดการที่น.ส.พรรณิการ์ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกโจมตีให้ร้ายบุคคลอื่นต่าง ๆ นาน ๆ แล้วกับเท็จจริงที่ปรากฎตามคำถาม 4ข้อ ข้างต้น น.ส.พรรณิการ์ช่วยตอบได้คำถามเหล่านี้ได้หรือไม่