รับกระแสโลกใหม่!?ธปท.เปิดทดสอบบาทดิจิตัล นำร่องกรุงศรี-ไทยพาณิชย์-ทูซีทูพี ทดลอง๑ หมื่นรายเริ่มปลายปี’๖๕

0

วาระเศรษฐกิจยุคหน้ากำลังคืบคลานเข้ามา เศรษฐกิจและเงินดิจิตัลเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ใหม่ ล่าสุดธปท. ได้ประกาศเตรียมทดสอบบาทดิจิทัลแบบ Retail CBDC โดยนำร่องให้กลุ่มลูกค้า ธนาคารกรุงศรี-ไทยพาณิชย์-ทูซีทูพี จำนวน ๑ หมื่นรายเริ่มคิกออฟทดลองใช้ปลายปีนี้ เพื่อทดสอบประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบ-ระดับนวัตกรรม พร้อมเปิดให้เอกชน-บุคคลทั่วไปเสนอรูปแบบธุรกิจ ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon” เพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น

วันที่ ๕ ส.ค.๒๕๖๕ นางสาววชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

ธปท. เป็นธนาคารกลางแรก ๆ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของ CBDC ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง นอกจากโครงการ Wholesale CBDC ต่าง ๆ   และการทดสอบ Retail CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจในห้องปฏิบัติการ (Proof of Concept) แล้ว 

ธปท. ยังเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต 

ทั้งนี้แผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะ pilot นี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

  1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ ๑๐,๐๐๐ ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ ๓ รายได้แก่

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท ‘Giesecke+Devrient4’ มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ไปจนถึงกลางปี ๒๕๖๖ 

  1. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon” ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ ๕ สิงหาคม – ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ จะได้รับคำปรึกษา (Mentoring) จากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์๕ (ซึ่งติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ ธปท.)  

ธปท. ขอย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้

นอกจากนี้ ธปท. ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการแอบอ้างในรูปแบบต่าง ๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธปท. เนื่องจากการทดสอบนี้ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น 

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงศรีฯ รู้สึกยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในธนาคารแรกของประเทศไทย ที่จะเปิดทดสอบบริการ Retail CBDC สกุลเงินดิจิทัลภาคประชาชนในระยะนำร่องช่วงปลายปี 2565 ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นการเปิดทดลองใช้งานในวงจำกัด ถือเป็นก้าวสำคัญในการศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาและขยายผลการใช้งานในระยะต่อไป

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้านการเงินของประเทศไทย กับเงินบาทดิจิทัลภาคประชาชน (Retail CBDC) ที่ออกโดยธปท. โดยเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรปกติ เป็นเงินบาทดิจิทัล ซึ่งมี serial number กำกับ ทำให้การถือ Retail CBDC เทียบเท่ากับการถือธนบัตร และไม่มีความเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล

สิ่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินใหม่ที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้รับแล้ว ยังเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

นายสยามกล่าวว่า “เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ มีความปลอดภัยสูง สะดวก ค่าเงินไม่มีความผันผวน  โดยหนึ่ง CBDC เท่ากับหนึ่งบาท และสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเงินสดได้ทันที อีกทั้งยังสามารถต่อยอดนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ ๆ ได้ เช่น การชำระสินค้าแบบกำหนดเงื่อนไข (Programmable Payment) ซึ่งกรุงศรีเชื่อว่าจะเป็นการพลิกโฉมระบบการเงินใหม่แห่งโลกอนาคตให้กับประเทศไทย โดยกรุงศรีมีความพร้อมและจะเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ประชาชนไทยได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หากมีการนำมาใช้ชำระจริงในอนาคต”