ในกระแสความผันผวนของความขัดแย้งทั้งในยุโรป ด้วยสงครามไฮบริดวอร์ในยูเครนและเอเชีย-แปซิฟิกกรณีช่องแคบไต้หวัน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ประกาศแผนใหม่เพื่อสร้างฐานทัพเรือใหม่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย อาฟริกาและกลุ่มอ่าวในตะวันออกกลาง เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากสหรัฐฯ
วันที่ ๕ ส.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวดิอิโคโนมิกไทมส์ของอินเดียและอัลอะราบิยาของอาหรับ ได้รายงานถึงคำประกาศของปธน.ปูตินแห่งรัสเซีย ได้เปิดตัวหลักแนวปฏิบิติทางทะเลฉบับใหม่ ซึ่งทำให้เห็นว่า อินเดียจะมีสถานะเป็นศูนย์กลางของ ยุทธศาสตร์ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียหรือ IOR:Indian Ocean Region ทั้งเศรษฐกิจและการทหาร การสำรวจไฮโดรคาร์บอนนอกชายฝั่ง และการวางท่อส่งใต้น้ำร่วมกัน เป็นการเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสองประเทศ
หลักคำสอนต่อกองทัพเรือรัสเซีย ที่เผยแพร่โดยปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันกองทัพเรือของประเทศ ระบุถึงการขยายสายการเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนความสนใจในการทำงานร่วมกับรัฐบาลปธน.นเรนทา โมดีเพื่อสำรวจแหล่งแร่ไฮโดรคาร์บอนนอกชายฝั่งและการวางท่อส่งใต้น้ำ
กลยุทธ์นี้ยังรวมถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ย้อนไปก่อนหน้านี้ รัสเซียพุ่งเป้าสร้างฐานทัพเรือในซูดานเพื่อขยายพื้นที่ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียแม้จะมีอุปสรรคแต่ก็มีแนวโน้มที่จะได้ลงมือทำหลังจากได้ลงนามในหลักการมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙
ในวันกองทัพเรือรัสเซียในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งก่อตั้งโดยปีเตอร์มหาราช ปธน.ปูตินยกย่องพระมหากษัตริย์ที่ทำให้รัสเซียเป็นมหาอำนาจทางทะเลและเพิ่มสถานะระดับโลกของรัฐรัสเซีย คำปราศรัยของปูตินไม่ได้กล่าวถึงความขัดแย้งในยูเครน แต่หลักคำสอนทางทหารคาดการณ์ถึง “การเสริมความแข็งแกร่งอย่างครอบคลุมของตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซีย” ในทะเลดำและอาซอฟ
ในโอกาสนี้ ปูตินได้ลงนามในหลักคำสอนทางทะเล ๕๕ หน้าฉบับใหม่ ซึ่งระบุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางของกองทัพเรือรัสเซีย ซึ่งรวมถึงความมุ่งมั่นในฐานะ “มหาอำนาจทางทะเล” ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก
หลักคำสอนยังมุ่งเน้นไปที่มหาสมุทรอาร์กติก ชายฝั่งทะเลยาว ๓๗,๖๕๐ กม. ของรัสเซียซึ่งทอดยาวจากทะเลญี่ปุ่นไปจนถึงทะเลสีขาว รวมถึงทะเลดำและทะเลแคสเปียนด้วย
นอกจากความร่วมมือกับอินเดียเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ทางเรือในมหาสมุทรอินเดียแล้ว รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือในวงกว้างกับอิหร่าน อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆด้วย
มีรายงานว่าปูตินต้องการขยายการปรากฏของฐานทัพทางเรือของรัสเซียในแอฟริกาด้วยฐานใหม่ใน ๖ ประเทศนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกาในปี ๒๐๑๙ ที่เมืองโซชิ แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดก่อนน่าจะเป็นซูดาน
เครมลินเคยแถลงว่า “ได้รับประกันตามสัญญา” ว่าจะ “ได้รับอนุญาตให้สร้างฐานทัพทหารใน๖ประเทศ” ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐอัฟริกากลาง อียิปต์ เอริเทรีย มาดากัสการ์ โมซัมบิก และซูดาน ตามเอกสารรั่วไหลของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน
รัสเซียแข่งขันกับประเทศตะวันตกสำหรับอิทธิพลในแอฟริกาด้วยการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอาฟริกัน ระยะเวลาหลายปีได้รับการยอมรับจากฝั่งอาฟริกาทั้งรัฐบาลและประชาชนอย่างมากไม่แพ้จีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในการร่วมต่อสู้เผชิญหน้ากับสหรัฐและตะวันตกกลุ่มมหาอำนาจเก่า
นอกจากนี้ หลักคำสอนใหม่ของกองทัพเรือเน้นย้ำถึงทะเลดำและทะเลอาซอฟ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก หมู่เกาะบอลติกและหมู่เกาะคูริล ซึ่งญี่ปุ่นอ้างอำนาจอธิปไตยและมีกรณีพิพาทต่อเนื่อง และการเชื่อมโยงทางทะเลที่นำไปสู่เอเชียและแอฟริกาว่าเป็น “พื้นที่สำคัญ”ซึ่งกองเรือรัสเซียต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ จากมุมมองทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติอย่างเต็มที่
โลกกำลังจับตาการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมในการปักหมุดเปิดฐานทัพทหารทางเรืออย่างเป็นทางการของรัสเซียซึ่งไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น แต่ดำเนินการและมีความคืบหน้าชัดเจนแล้ว ต่อไปนี้ไม่ใช่สหรัฐเท่านั้นที่ปักธงฐานทัพไปทั่วโลก แต่จะได้เห็นฐานทัพของรัสเซียและจีนขยับขยายอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เพนตากอนของสหรัฐสั่นสะท้านอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน!!