สถานการณ์การดื้อดึงเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ นางแนนซี่ เปโลซี เป็นการรุกคืบของสหรัฐเพื่อยั่วยุจีนขั้นสูง กระตุ้นความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่สงคราม แต่เมื่อจีนสวนเกมสหรัฐ ไม่ตอบสนองโจมตีคณะของเปโลซี สหรัฐก็ทำอะไรไม่ได้ เผ่นกลับอย่างไวเพราะใกล้เวลาปิดล้อมซ้อมรบที่ประกาศเตือนมาแล้วล่วงหน้า สถานการณ์เวลานี้จึงพลิกกลับ จีนเป็นฝ่ายรุกตอบโต้ทั้งการทูต เศรษฐกิจ และการทหาร มุ่งเป้าจัดการกลุ่มแสบที่ไต้หวัน จำกัดวงเป็นเรื่องกิจการภายในประเทศ ใครแถเอากำลังรบเข้ามาตอนนี้ก็ถือเป็นการแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้ง
นอกจากสหประชาชาติจะยืนยันรับรองหลักการ ‘จีนเดียว’ แล้ว ล่าสุด เลขาธิการSCO ได้ออกมายืนยันยอมรับ “จีนเดียว”เช่นกัน ถือเป็นบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประกาศต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกทุกรูปแบบ
สมาชิกถาวรของSCO ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย คีร์กีซสถาน ปากีสถาน ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน ในปัจจุบัน อิหร่าน เบลารุสยื่นใบสมัคร และอัฟกานิสถาน มองโกเลียเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ มีประชากรคิดเป็นกว่า ๔๐% ของโลกและ ๒๘% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก
วันที่ ๔ ส.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวซินหัวและทาซซ์รายงานว่า จาง หมิง (Zhang Ming) เลขาธิการขององค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้หรือ SCO กล่าวแถลงเมื่อวันพุธที่ ๓ ส.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นางแนนซี่ เปโลซี(Nancy Pelosi) ว่า องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ขอประกาศต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศสมาชิกในทุกกรณี
ถ้อยแถลงบนเว็บไซต์ขององค์กรอ้างคำพูดของเขาว่า “SCO สนับสนุนหลักการ ‘จีนเดียว’ และต่อต้านการแทรกแซงของกองกำลังภายนอกในเรื่องการเมืองภายในของประเทศสมาชิก” เลขาธิการยังชี้ให้เห็นว่าหลักการ “จีนเดียว” คือฉันทามติทั่วไปของประชาคมระหว่างประเทศและบรรทัดฐานพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ในคืนวันอังคารที่ ๒ ส.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีการประท้วงของปักกิ่ง แต่เปโลซีก็มาถึงไต้หวันจนได้ภายใต้การอารักขาของกองเรือพิฆาตและบินรบประกบมาส่ง การเดินทางครั้งนี้กลายเป็นการมาเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ ๒๕ ปี
นับตั้งแต่ ในปี ๑๙๙๗ นิวท์ กิงริช ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริการะหว่างการบริหารของคลินตันได้ไปเยือนไต้หวัน โดยพำนักอยู่ในไทเปเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น ในงานแถลงข่าวที่นั่น เขายืนยันว่าสหรัฐฯ ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อป้องกันการรวมไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ ไปยังเกาะซึ่งทำให้ปักกิ่งไม่พอใจ กระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าวอชิงตันกำลังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของปักกิ่ง และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง แม้ปักกิ่งจะเตือนวอชิงตันอย่างแข็งกร้าวว่าถ้าเปโลซีไปเยือนเกาะนี้ จะเกิดผลกระทบร้ายแรงและจีนจะใช้มาตรการที่เข้มข้นตอบโต้
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการกระชับรวมตัวในหมู่พันธมิตรใกล้ชิดยิ่งขึ้น เปิดตัวรายแรกคืออิหร่าน ตามมาด้วยรัสเซียและเกาหลีเหนือ นอกจากประกาศยืนยันหลักการ “จีนเดียว”หรือ The Principle ‘One China’ แล้วยังประณามสหรัฐที่ทำการยั่วยุอย่างร้ายแรงด้วย
นอกจากนี้ ชุมชนนานาชาติต่างออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนจีนอย่างคึกคักตั้งแต่วันพุธที่ ๓ ส.ค.ที่ผ่านมา
ประเทศในละตินอเมริกา ได้แก่กระทรวงการต่างประเทศของเวเนซุเอลา ประณามการเยือนไต้หวัน ของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี่ เปโลซีว่าเป็นการยั่วยุและคุกคามความมั่นคงของจีน ข้อความของกระทรวงที่เผยแพร่บนทวีตเตอร์ระบุว่า “การเดินทางของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ไปยังไต้หวันเป็นการยั่วยุโดยตรงและเป็นภัยคุกคามต่อการตัดสินใจของตนเองและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน”
ในกลุ่มนี้ยังมีคิวบา นิการากัว ก็ได้แถลงประณามการมาเยือนของเปโลซีว่าเป็น “การยั่วยุของลัทธิจักรวรรดินิยมในอเมริกาเหนืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ฝั่งตะวันออกกลางมีซีเรีย และสันนิบาตอาหรับประกาศก็ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนนโยบายจีนเดียว
เรื่องนี้เว็บไซต์ The New Arab รายงานเมื่อวันที่ ๓ ส.ค.ที่ผ่านมาว่า นายฮอสแซม ซากี (Hossam Zaki) เลขาธิการสันนิบาตอาหรับระบุในการหารือกับนาย เหลียว ลี่เกียง(Liao Liqiang)เอกอัครราชทูต จีนประจำอียิปต์และสันนิบาตอาหรับในวันเดียวกันว่า สันนิบาตอาหรับมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายจีนเดียว และสันนิบาตอาหรับคาดหวังให้วิกฤติการณ์ไต้หวันคลี่คลายโดยเร็ว โดยท่าทีของสันนิบาตอาหรับอยู่บนพื้นฐานของการยึดมั่นต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน และยึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียวอย่างมั่นคง
นอกจากนี้กลุ่มสมาชิกอาเซียนซึ่งกำลังจัดประชุมสุดยอดที่กัมพูชา ก็ได้ทะยอยประกาศสนับสนุนหลักการ ‘จีนเดียว’ กันอย่างแข็งกัน เหตุการณ์ครั้งนี้นานาชาติทั่วโลกได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของสหรัฐภายใต้หน้ากากประชาธิปไตยว่ากระหายสงครามขนาดไหน???