ไม่รู้จะสรรหาคำใดมาพูดจริงๆสำหรับการทำงานที่ดูเหมือนพังไม่เป็นระบบในการวางมาตรการจ่ายเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ซึ่งวันนี้จะมาดูกันว่าใครเป็นวางระบบโปรแกรมAI ในการคัดกรองให้กระทรวงการคลังที่ล้มเหลว คนด่าทั้งบ้านทั้งเมือง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค.63 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายละ 5,000 บาทใช้ระบบคัดกรองคุณสมบัติผู้ที่ได้สิทธิ์รับเงิน 5,000 บาท โดยทางธนาคารกรุงไทยนำระบบ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน มีความถูกต้องแม่นยำสูง ทางกระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาและป้องกันการสวมสิทธิ์จากพวกมิจฉาชีพได้
ต่อมา 2 เม.ย.63 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยการับเงินเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ทำให้เกิดกระแสวิตกกังวลในหมู่ประชาชนถึงกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ว่า AI จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และจะมีช่องว่างให้ผู้ที่เดือดร้อนจริงถูกปฏิเสธการได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การตรวจสอบแม้จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มามีส่วนร่วม
“แต่ก็มีความเข้มข้นและครอบคลุมทุกมิติ เพราะนอกเหนือจาก AI การตรวจสอบสิทธิ์ในครั้งนี้กระทรวงการคลังยังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งระบบคลังจังหวัด เครือข่ายธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 10 แห่ง รวมถึงในข้อกำหนดการรับสิทธิ์ก็ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงการคลังสามารถเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้กรณีมีข้อมูลไม่ชัดเจน”
ขณะที่วันเดียวกัน นายชาญกฤช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับสิทธิ์เยียวยาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกแบรนด์ดังระดับโลกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ ทั้ง Amazon, Google, Uber, Apple, Netflix และ Facebook เพราะสามารถบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด
นอกจากนี้ AI ยังสามารถเรียนรู้ (Machine Learning) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารกรุงไทยเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการลงทะเบียนในระบบ โดยวิธีการตอบคำถามที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ หลังจากนั้นระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบคำถามของผู้ลงทะเบียน โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เลือกและคำถามที่ตอบไว้ ซึ่งตรงนี้ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่าสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ทางกระทรวงการคลังระบุไว้หรือไม่ โดยผลที่ได้จะมีความแม่นยำสูง ปราศจากความคิดเห็นส่วนตัว ต่างจากมนุษย์ เพราะระบบ AI จะวิเคราะห์พร้อมประมวลผลข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้กรอก เพื่อเฟ้นหาผู้ที่เดือดร้อนจริงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้รับสิทธิ์เงินเยียวยารายละ 5,000 บาท
ล่าสุดวันนี้(9เม.ย.63) นายธนกร กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทในวันแรกทุกอย่างเรียบร้อยดี ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผ่านหลักเกณฑ์ต่างดีใจที่ได้เงินไปจับจ่ายใช้สอยในยามเดือดร้อน ส่วนหญิงสาวบอกเงิน5,000บาท เป็นเพียงเงินหลังตู้เย็นเรื่องดังกล่าวกระทรวงการคลังได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่า บุคคลดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์มาได้อย่างไร หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการให้ข้อมูลเท็จจะเรียกเงินคืนทันที ส่งให้กระทรวงดิจิทัลฯตรวจสอบ และกระทรวงการคลังจึงตั้งทีมกฏหมายเข้าไปดูแลโดยเฉพาะแล้ว อยากขอร้องคนที่รู้ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ ขอให้ไปยกเลิกเห็นใจคนที่เดือดร้อนจริงๆ อย่าเบียดบังคนที่เดือดร้อนเพราะกระทรวงการคลังเองก็ไม่อยากเอาผิดประชาชน
ด้านเว็บไซต์นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ได้เผยแพร่เนื้อหาข่าว ระบุ เบื้องหลังมือวาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจบางช่วงว่า ชื่อ “สมคิด จิรานันตรัตน์” ถูกพูดในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ โดย“สมคิด” ได้ชื่อว่าเป็นมือออกแบบระบบดิจิทัล อัพเกรดและพัฒนา application หรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมทั้งปรับปรุงแพลตฟอร์มและแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีต่างๆ เป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
ทั้งนี้นายสมคิด ได้รับโจทย์ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทกำหนดให้ไม่จำกัดจำนวนคนลงทะเบียนและสามารถรองรับการลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่สามารถรู้จำนวนคนที่จะเข้ามาและก็ไม่อยากเห็นการตั้งด่าน เพื่อไม่ให้คนแย่งกันเข้ามาพร้อมๆ กัน จึงหาวิธีทำระบบให้รองรับคนลงทะเบียนได้มากกว่าโครงการ ชิมช้อปใช้อย่างน้อย 10 เท่า ได้ปรึกษาบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ cloud service คือ google cloud ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้บริการและคุ้นเคยกันมานานทาง google cloud ที่สิงคโปร์
ที่มา (https://www.thansettakij.com/content/money_market/427618 สามารถเข้ามาอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่นี่ )
รวมทั้งที่ หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563