มหากาพย์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมูลค่ากว่า ๑.๒ แสนล้านบาท ไม่น่าจะดำเนินการได้อย่างราบรื่นโดยง่าย เพราะพ่วงหลังด้วยความแคลงใจของสาธารณชนเรื่องความโปร่งใส ล่าสุดรฟม.ประกาศเปิดประมูลรอบใหม่ไม่สนใจคำพิพากษาว่า การประมูลรอบแรกผิด และจากการเปิดประมูลครั้งที่สองก็มีการยื่นสองแค่ ๒ ราย ด้านบีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.ว่า TOR ส่อกีดกันการแข่งขัน หากผลออกมาผิดซ้ำใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นร้อน สะกิดเตือนผู้เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามคาด ! แค่ 2 ราย ยื่นสายสีส้ม รฟม. ดันต่อ ไม่รอศาลฯ
ถึงแม้ว่าศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนการยกเลิกการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและเดินรถสายสีส้มตลอดทั้งสาย ครั้งที่ 1 เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นหมายความว่าการประมูลครั้งที่ 1 ยังคงมีอยู่ แต่ รฟม. ก็เดินหน้าสู้ด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับดำเนินการประมูลครั้งที่ 2 ต่อไป ไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นับว่า รฟม. กล้าเสี่ยงมาก !
- บริษัทซื้อซองประมูล 14 ราย
มีบริษัทซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนจำนวน 14 ราย แต่มีบริษัทยื่นเอกสารฯ เข้าประมูลแค่ 2 ราย เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่ผมได้เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กหลายครั้งว่าการประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ครั้งที่ 2 จะมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อย ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีแค่ 2 ราย เท่านั้น และทั้ง 2 รายนั้นก็มีชื่อตรงกับที่ผมเคยโพสต์ไว้
- ทำไมมีบริษัทเข้าประมูลน้อย ?
โครงการนี้มีทั้งการก่อสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ยื่นประมูลจะต้องประกอบด้วยบริษัทเดินรถไฟฟ้าและบริษัทรับเหมา
ทั้งนี้ ในการประมูลครั้งที่ 2 บริษัทเดินรถไฟฟ้าต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทำให้มีบริษัทเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้คือ Incheon Transit Corporation ซื้อเอกสารฯ ด้วย ต่างจากครั้งที่ 1 ซึ่งเข้าไม่ได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลครั้งที่ 2 บริษัทรับเหมาเข้าร่วมประมูลได้ยากกว่าครั้งที่ 1 เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติ ทำให้เข้าประมูลได้ยากขึ้น ส่งผลให้ในโลกนี้มีบริษัทรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบแค่ 2 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ส่วนบริษัทรับเหมาอื่นจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ ซึ่งไม่ง่าย เพราะ รฟม. กำหนดไว้ว่า “โดยผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%” ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้ ต่างจากการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งเปิดกว้างคุณสมบัติของบริษัทรับเหมามากกว่า
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เข้าประมูลแค่ 2 ราย เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รายนี้มีชื่อตรงกับที่ผมเคยโพสต์ไว้ก่อนแล้ว ดังนี้
(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ
(2) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้
- เหตุใด BTS “ผู้เดินรถไฟฟ้ารายแรกของไทย” จึงไม่เข้าประมูล ?
ผมเคยโพสต์ไว้แล้วว่าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS “ผู้เดินรถไฟฟ้ารายแรกของไทย” คงหาบริษัทรับเหมามาร่วมประมูลได้ยาก เนื่องจากบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบและได้ร่วมประมูลกับบีทีเอสในการประมูลครั้งที่ 1 แต่กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เพราะมีการปรับแก้คุณสมบัติของบริษัทรับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น
BTS จะเชิญชวนให้ ITD ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบมาร่วมประมูลก็ไม่ได้ เพราะ ITD ได้ร่วมกับบริษัทเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้คือ Incheon Transit Corporation แล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าคิดว่าหากในการประมูลครั้งที่ 2 นี้ ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย ก็จะมีบริษัทเดินรถไฟฟ้าเพียง 2 ราย ได้แก่ BEM และ BTS เท่านั้น เมื่อ BEM ยื่นประมูลร่วมกับ CK ก็จะเหลือบริษัทเดินรถไฟฟ้าเพียงรายเดียวคือ BTS ถามว่า ITD จะยินดีเข้าร่วมประมูลกับ BTS หรือไม่ ? ถ้าไม่ ก็จะเหลือบริษัทยื่นประมูลแค่รายเดียว คือ BEM + CK แล้ว รฟม. จะทำอย่างไร ?
- รฟม. จะดันต่อได้แค่ไหน ?
หาก รฟม. สามารถดำเนินการประมูลจนได้เอกชนที่มาร่วมลงทุน มีการลงนามในสัญญาเสร็จเรียบร้อยก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาลงมา และหากต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง นั่นคือ เพิกถอนการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้การประมูลครั้งที่ 1 ยังคงมีอยู่ แล้วการประมูลครั้งที่ 2 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? หากไม่ชอบ รฟม. จะต้องกลับมาดำเนินการประมูลครั้งที่ 1 ให้จบกระบวนการหรือไม่ ? ประเด็นนี้จะต้องติดตาม !
“การไม่รอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำมาสู่ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครจะทราบได้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาว่าอย่างไร แล้วเหตุใดจึงต้องรีบเร่งจัดประมูลในครั้งที่ 2 โดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเสียก่อน ประเด็นสำคัญข้อนี้ ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ต่างตั้งข้อสงสัยและข้อกังขา ต้องการฟังคำชี้แจงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้สิ้นสงสัย”
- ความเสียหายที่เกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ?
ถึงเวลานี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมประมาณ 2 ปีแล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ประเมินค่าเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจจากการประหยัดเวลาการเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ และการลดมลพิษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท/ปี ถึงเวลานี้ โครงการนี้ล่าช้าไปแล้ว 2 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท
ถามว่า ความสูญเสียอันใหญ่หลวงนี้ ใครจะรับผิดชอบ ?