สหรัฐกำลังปลุกปั่นสงครามนอกประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย แต่ในประเทศเผชิญภัยพิบัติใหญ่ทั้งไฟไหม้และน้ำท่วมหนัก นักวิทยาศาสตร์ต่างชี้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศทำให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ไฟป่าลามทั้งแคลิฟอร์เนีย มอนทานาและไอดาโฮ อีกด้านหนึ่งฝนตกหนักต้นสัปดาห์จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันทางตะวันออกของรัฐเคนตักกี ล่าสุดวันเสาร์ที่ผ่านมายอดเสียชีวิตเพิ่ม ๒๕ คนและสูญหายอีกหลายสิบราย ขณะที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลทำให้กรีนแลนด์ใกล้ขั้วโลกเหนือเกิดน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำถึง ๑.๘ หมื่นล้านตันระหว่างวันที่ ๑๕ ก.ค – ๑๗ ก.ค ที่ผ่านมา และยังเดินหน้าละลายต่อ
วันที่ ๑ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวนิวยอร์ก พับลิกเรดิโอ(npr.org)รายงานว่า ผู้ว่าการรัฐเคนตักกี แอนดี บีเชียร์ (Gov.Andy Beshear) กล่าววันเสาร์ที่ ๓๐ ที่ผ่านมาว่า จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมฉับพลันล่าสุด ๒๕ รายมีเด็กเล็กด้วยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และเปิดเผยว่าทั้งบ้านเรือนประชาชนและธุรกิจร้านค้าหลายร้อยแห่งถูกน้ำท่วมสูงเวลานี้ เขาย้ำว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐเคนตักกี้
มีรายงานไฟฟ้าดับประมาณ ๑๘,๐๐๐ แห่ง จากทั้ง ๒๓,๐๐๐ แห่ง อันเป็นผลมาจากอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ ระบบน้ำได้รับผลกระทบเช่นกัน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่กลับมาป่วยโควิด-๑๙อีกครั้งได้ออกประกาศคำสั่งภาวะฉุกเฉินภัยพิบัติครั้งใหญ่เพื่อปลดล็อกให้หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯเข้าให้ความช่วยเหลือทันที
โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มมาเป็น ๒๕ รายและมีผู้สูญหายอีกหลายสิบคน บีบีซีชี้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วย ๖ คนและหนึ่งในนั้นมีอายุต่ำสุด๑ ขวบ
เดอะการ์เดียนรายงานว่า น้ำท่วมฉับพลันครั้งร้ายแรงเกิดทางตะวันออกของรัฐเคนตักกีหลังต้นสัปดาห์เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในเมืองเซนต์หลุยส์ (St Louis) ของรัฐมิสซูรี ที่เห็นฝนตกหนักร่วม ๑ ฟุตทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒ คนเกิดการติดขัดทั้งถนนหนทางและในพื้นที่ชุมชน
ผู้ประสบภัยจำนวนหลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลืออพยพออกมาทั้งทางเฮลิคอปเตอร์หรือทางเรือ ซึ่งในเวลานี้มีประชาชนเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า ๓๓,๐๐๐ คนต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งน้ำท่วมฉับพลันหลังฝนตกหนักส่งผลทำให้เกิดโคลนถล่มและทำให้ถนนไม่สามารถสัญจรได้
ผู้ว่าการรัฐเคนตักกีกล่าวว่า ภูมิภาคเทือกเขาแอปพาเลเชียน(Appalachian Mountains)แห่งนี้เคยเกิดน้ำท่วมฉับพลันมาก่อนแต่ไม่ร้ายแรงเท่าที่กำลังประสบอยู่ในเวลานี้
ภาพข่าวจากรอยเตอร์แสดงให้เห็นน้ำท่วมสูงครึ่งคันรถที่กำลังจอดอยู่ บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกทำให้เกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติครั้งร้ายแรง เช่นน้ำท่วมรัฐเคนตักกี ซึ่งในวันศุกร์ที่ ๒๙ ก.ค.ที่ผ่านมา โลกโซเชียลมีเดียสหรัฐฯต่างออกมากล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหรือช่วยกระพรือทำให้วิกฤตน้ำท่วมรัฐเคนตักกีมีความร้ายแรง
นิวสวีครายงานว่า หนึ่งในนั้นที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกที่มีผลกระทบต่อวิกฤตภัยพิบัติน้ำท่วม คือ เบอร์นีซ คิง ( Bernice King) บุตรสาวคนเล็กของผู้นำผิวสีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ สาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ พร้อมส่งใจไปยังเหยื่อผู้ประสบภัย
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกยังกระทบลามไปถึงเกาะกรีนแลนด์ ดินแดนอาณานิคมเดนมาร์กที่อยู่ติดขั้วโลกเหนือ สื่อกิซโมโด( Gizmodo) รายงานก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ ก.ค.ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดจากโครงการสำรวจโลกโคเปอร์นิคัส(Copernicus Earth observation program) ของสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นว่า น้ำแข็งส่วนใหญ่ของเกาะกรีนแลนด์กำลังละลาย
สายธารสีฟ้าเทอร์คอยซ์สดที่อาจดูสวยจากภาพดาวเทียมแต่ความเป็นจริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ของการละลายอย่างรวดเร็วของน้ำแข็ง
กิซโมโดรายงานว่า เมื่อไม่กี่วันช่วงต้นเดือนกรกฎาคมพบว่ากรีนแลนด์ที่มีสภาพอากาศหนาวขั้วโลกกลับมีอุณหภูมิที่สูง ในหลายส่วนของพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง ๑๕.๕ องศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิปกติโดยเฉลี่ยของเดือนก.ค.ถึง ๑๐องศาอ้างอิงจากสื่อสหรัฐฯ
และจากการเกิดอุณหภูมิสูงผิดปกติส่งผลทำให้เกิดหิมะตกเป็นวงกว้างและน้ำแข็งละลายไปทั่วแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ โดยภายในแค่เวลา ๓วันระหว่างวันที่ ๑๕ ก.ค – วันที่ ๑๗ ก.ค พบว่าเกิดน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำราว ๑.๘ หมื่นล้านตัน
การละลายยังไม่หยุดเพราะน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำอีกราว ๘ พันล้านตันถึง๑๐ พันล้านตันต่อวันระหว่างวันที่ ๒๐ก.ค – วันที่ ๒๓ ก.ค อ้างอิงจากความเห็นผู้เชี่ยวชาญเท็ด สแคมบอส (Ted Scambos) ด้านธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่เปิดเผยทางอีเมลต่อกิซโมโด
ภาพถ่ายดาวเทียมโคเปอร์นิคัสชี้ว่า วันที่ ๒๒ ก.ค ถือเป็นวันที่มีการละลายน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นที่น่ายินดีเพราะสื่อกิซโมโดชี้ว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาช่วงสูงสุดของการละลายน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ลดลง
นอกจากภัยน้ำท่วมใหญ่ สหรัฐกำลังเผชิญกับไฟป่าในแคลิฟอร์เนียและมอนทานา ได้ระเบิดขึ้นเป็นวงกว้างขนาดใหญ่ในชั่วข้ามคืน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดและมีลมแรง และรุกล้ำเข้าไปในละแวกใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีคำสั่งอพยพมากกว่า 100 หลังคาเรือนเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ไฟในไอดาโฮกำลังลุกลามจนกระทั่งวันนี้ยังไม่หยุดไหม้
ทางตะวันตกของรัฐมอนทานา ไฟไหม้เอลโมที่ขับเคลื่อนด้วยลมได้บังคับให้ต้องอพยพบ้านเรือนและปศุสัตว์ขณะที่ไฟลามผ่านทุ่งหญ้าและไม้ซุง ตามรายงานของ National Interagency Fire Center ซึ่งตั้งอยู่ในไอดาโฮ หน่วยงานคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนในการควบคุมไฟ
เมื่อไฟป่าโหมกระหน่ำทั่วตะวันตก สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (29) ได้อนุมัติกฎหมายหลากหลายฉบับที่มุ่งช่วยเหลือชุมชนในภูมิภาคนี้ในการรับมือกับไฟป่าและความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้บ้านและธุรกิจเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ ปีที่ผ่านมา
มาตรการทางกฎหมายที่ได้รับการอนุมัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลกลางเมื่อวันศุกร์รวมร่างกฎหมาย ๔๙ ฉบับ โดยจะเพิ่มค่าจ้างและผลประโยชน์นักผจญเพลิง ส่งเสริมโครงการความยืดหยุ่นและบรรเทาผลกระทบสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องต้นน้ำลำธาร; และทำให้เหยื่อไฟป่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางได้ง่ายขึ้น