หลังจากที่มีรายงานว่า สหภาพยุโรปเตรียมเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวหนักหน่วงขึ้นตั้งแต่วันพุธ ที่ 27 ก.ค. เป็นต้นไป หลังก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานรัสเซีย บอกว่าจะปรับลดกระแสก๊าซที่ป้อนผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 ไปยังเยอรมนี เหลือเพียง 1 ใน 5 ของศักยภาพ
ด้วยที่บรรดารัฐสมาชิกของอียูหลายสิบชาติได้รับอุปทานจากรัสเซียในปริมาณที่ลดลงอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น บรัสเซลส์จึงเรียกร้องให้รัฐสมาชิกประหยัดก๊าซและกักเก็บคลังสำรองไว้สำหรับฤดูหนาว ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียจะตัดก๊าซโดยสิ้นเชิง ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกกำหนดเล่นงานมอสโกต่อกรณีรุกรานยูเครน งานนี้ทำให้น่าจับตา ว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ต้องเข้าตาจนอีกครั้ง เพราะพลังงานอาจจะไม่พอใช้จนหน้าหนาวมาถึง
ล่าสุดปัญหารุกลามมาถึงธุรกิจร้านอาหารในอังกฤษ เผชิญภาวะความยากลำบาก จากวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทรุดหนัก ผลสำรวจ 1 ปีที่ผ่านมาร้านอาหารในอังกฤษปิดตัวล้มละลายกว่า 1,400 แห่ง เพิ่มขึ้นถึง 64% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงถึง 9.4% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องส่งผลทางธุรกิจต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ต้องรับมือกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าทุกอย่างตั้งแต่ก๊าซ ไฟฟ้า ไปจนถึงอาหารและเสื้อผ้าพุ่งสูงขึ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 12% ในเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ครัวเรือนอยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางการเงิน ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน
ข้อมูลจากบริษัทบัญชี UHY Hacker Young ระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (มิ.ย. 2021-พ.ค. 2022) มีร้านอาหาร 1,406 แห่งในสหราชอาณาจักรปิดตัวลงเพิ่มขึ้น 64% จากปีที่แล้ว ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนแรงงานและวิกฤตค่าครองชีพที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการลดการใช้จ่าย ซึ่งธุรกิจร้านอาหารมีการปิดกิจการ มากกว่าอุตสาหกรรมการบริการในภาพรวมที่เห็นการล้มละลายเพิ่มขึ้น 56% ในช่วงเวลาเดียวกัน แรงกดดันเพิ่มขึ้นในภาคร้านอาหารทุกวัน ส่งผลให้ร้านอาหารต้องปิดกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยร้านอาหารที่สามารถเอาชีวิตรอดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ปัจจุบันธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ จากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการขาดแคลนแรงงานหลัง Brexit ทำให้ต้นทุนค่าแรงก็สูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อลดลง
อย่างไรก็ตามพบว่า ผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า 1 ใน 4 ของชาวอังกฤษใช้วิธีงดมื้ออาหาร เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและวิกฤตอาหารโลก