ต้องยอมรับว่า ตลอดเวลาเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมา รัสเซียได้รับความเสียหายจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกและสหรัฐฯ ที่กำหนดเล่นงานตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน อย่างต่อเนื่อง
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้รัสเซียสะท้านแต่อย่างใด กลับกันเศรษฐกิจรัสเซียดูเหมือนกำลังยืนหยัดรับมือกับการคว่ำบาตรได้อย่างดีเยี่ยม จนหลาย ๆ ประเทศคาดไม่ถึง ผิดกับทางสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ที่กำลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อรุนแรง รวมทั้งยังมีเรื่องโรคระบาดที่อ่วมหนักอีกด้วย
ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ปรับคาดการณ์จีดีพีของรัสเซียในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ประมาณการก่อนหน้านี้ 2.5% แม้ยังคงคาดหมายว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวราว ๆ 6% ก็ตาม
ด้านปิแอร์ โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี พร้อมระบุว่า เหตุผลสำคัญที่การถดถอยไม่เลวร้ายเท่าที่คาดหมายก่อนหน้านี้ ก็คือ “ธนาคารกลางรัสเซียและบรรดาผู้กำหนดนโยบายของรัสเซีย สามารถป้องกันความตื่นตระหนกทางภาคธนาคารหรือการล่มสลายทางการเงิน ตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่มีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตร”
ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานที่พุ่งสูงมอบรายได้จำนวนมหาศาลแก่เศรษฐกิจรัสเซีย หลังจากเริ่มต้นปีด้วยราคาต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันพุ่งทะยานแตะระดับเกือบ ๆ 129 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ก่อนแกว่งตัวลงมาอยู่ต่ำกว่า 105 ดอลลาร์ในวันอังคาร(26ก.ค.) สำหรับสัญญาเบรนท์ทะเลเหนือ ส่วนก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นอีกครั้งและใกล้ทาบสถิติสูงสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้อีกรอบ
ในขณะที่เศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลก ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯและจีนกำลังชะลอตัว รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า “คาดหมายว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงไตรมาส 2 จะหดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการในเบื้องต้น ด้วยน้ำมันดิบและการส่งออกต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทำได้ดีเกินคาดหมาย”
แม้รัสเซียเผชิญมาตรการคว่ำบาตร แต่อุปสงค์ภายในของรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นบางอย่าง สืบเนื่องจากมาตรการสนับสนุนของทางรัฐบาล อย่างไรก็ตามทาง กูรินชาส์ เชื่อว่าสำหรับรัสเซียแล้ว ยังไม่มีหนทางการฟื้นตัวรออยู่เบื้องหน้า โดยในข้อเท็จจริงคือ ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2023 ว่าจะหดตัวยิ่งขึ้นอีก 1.2% จากเดิมที่ประมาณการในเดือนเมษายน ว่าจะหดตัว 3.5%
ขณะเดียวกันรายงานของไอเอ็มเอฟ บ่งชี้ว่ายุโรปกำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย เนื่องจากพวกเขาพึ่งพิงพลังงานจากมอสโกเป็นอย่างมาก โดยสถานการณ์อาจเลวร้ายลงฉับพลัน หากว่ารัสเซียตัดการส่งออกก๊าซ และถึงคราวที่มาตรการคว่ำบาตรของพวกเขาที่กำหนดเล่นงานน้ำมันรัสเซียที่ส่งมอบทางทะเล เริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2022 ลงเหลือ 2.6% จากระดับ 2.8% ที่ประมาณการไว้ในเดือนเมษายน สะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อที่ลุกลามบานปลายอันเนื่องจากสงครามในยูเครน