สหรัฐผิดหวังไม่น้อยที่ผู้นำอินโดนิเซียเริ่มทริปจีนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีการเจรจาทวิภาคีที่เป็นนรูปธรรมเน้นการค้า ประสานงานกิจการระดับภูมิภาค สื่อจีนพากันยกย่องว่า การเยือนจีนของปธน.โจโก วิโดโดจะเติมพลังบวกให้เอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น แม้ในเวลาเดียวกันสื่อตะวันตกจะโหมข่าวว่า อินโดนีเซียจะเข้าร่วมซ้อมรบกับสหรัฐในเดือนสิงหาคมทีจะถึงนี้ในน่านน้ำของอินโดนีเซียก็ตาม
วันที่ ๒๗ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวซีจีทีเอ็นและโกลบัลไทมส์รายงานว่า ประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้จัดการเจรจากับประธานาธิบดี โจโค วิโดโด (Joko Widodo) แห่งอินโดนีเซียในวันอังคารที่ ๒๖ ก.ค.ที่ปักกิ่ง ผู้นำทั้งสองได้พูดคุยอย่างจริงใจและเป็นมิตร มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี และประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่หลากหลาย และบรรลุฉันทามติที่สำคัญหลายเรื่องโดยเฉพาะ โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตาร์หนึ่งแถบและเส้นทางหรือ BRI ของจีน และศูนย์กลางการเดินเรือระดับโลก หรือ โกลบัลมาริไทม์ ฟัลครัม ชื่อย่อว่าจีเอ็มเอฟ(GMF:Global Maritime Fulcrum)
ตามคำเชิญของปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำอินโดนีเซีย เยือนประเทศจีนตั้งแต่วันที่ ๒๕-๒๖ ก.ค. ๒๕๖๕ ถือเป็นประมุขต่างประเทศคนแรกที่ไปเยือนประเทศจีน หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง
กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า ในระหว่างการเยือนของผู้นำอินโดนีเซีย ปธน.สี จิ้นผิง จะเจรจากับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เมื่อเผชิญกับวิกฤตทั่วโลก สิ่งนี้ทำให้เกิดความคาดหวังสำหรับจีนและอินโดนีเซีย เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความร่วมมือในทางปฏิบัติเพื่อสร้างรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในยุคใหม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้การแนะนำของประมุขแห่งรัฐทั้งสอง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินโดนีเซียได้พัฒนาไปอย่างราบรื่นและมั่นคงมากขึ้น ความร่วมมือทางการค้าเป็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระดับสูงในปัจจุบันอย่างชัดเจน สถิติแสดงให้เห็นว่าการค้าระหว่างสองประเทศยังคงเติบโตแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ และแรงกดดันจากตะวันตก
ในปี ๒๕๒๔ ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น ๕๘.๖% จากปีที่แล้วเป็นกว่า ๑๒๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รั้งอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับการลงทุนของจีน จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียเป็นเวลา๙ปีติดต่อกัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมีผลบังคับใช้ในปีนี้ การค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศจะผลักดันการบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ จีนและอินโดนีเซียต่างก็เป็นตัวแทนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันในวงกว้าง มีความคืบหน้าครั้งใหญ่ในการร่วมกันสร้างสถานที่สำคัญ ในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่น รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศยังได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือการเจรจาระดับสูง และจัดการประชุมสองครั้ง จัดตั้งกรอบความร่วมมือ “ขับเคลื่อนสี่ล้อ” และแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่าจีนเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในช่วง COVID-๑๙ และยังเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาเฉพาะกับอินโดนีเซีย ณ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ในฐานะผู้ให้บริการวัคซีนรายใหญ่ที่สุด จีนได้ให้วัคซีนเกือบ ๒๙๐ ล้านโดสแก่อินโดนีเซีย
ประธานาธิบดีโจโกต้องเผชิญกับปัญหาทางการฑูตที่ยุ่งยาก โดยพยายามเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างรัสเซียและยูเครน มุ่งเน้นไปที่ปัญหาความยากจนและความอดอยากในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และพยายามที่จะเริ่มต้นห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการประสานงานระหว่างประเทศที่น่าชื่นชมของอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการกำหนดภาพลักษณ์ของชาติที่มีความรับผิดชอบ และได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศที่กว้างใหญ่ รวมถึงจีนด้วย
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้สื่อตะวันตกรีบรายงานว่า กองทัพอินโดนีเซียมีกำหนดจะซ้อมรบครั้งใหญ่กับสหรัฐฯ ระหว่าง ๑– ๑๔ ส.ค.๒๕๖๕ โดยแผนการซ้อมรบกำหนดขึ้นหลังการเดินทางเยือนอินโดนีเซียของพลเอก มาร์ก มิลเลอร์( Mark A. Milley) ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ท่ ๒๔ ก.ค.ที่ผ่านมา โดยการซ้อมรบร่วมในครั้งนี้จะเชิญกองทัพญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสิงคโปร์เข้าร่วมด้วย และจะเชิญอีก ๗ ประเทศ อาทิ มาเลเซีย แคนาดา ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ การซ้อมรบร่วมดังกล่าวจะจัดขึ้นในจังหวัดสุมาตราตอนใต้ โดยคาดว่าจะมีนายทหารอินโดนีเซียและสหรัฐฯ เข้าร่วมการฝึกประมาณ ๔,๐๐๐ นาย
ดูเหมือนจีนจะไม่สะทกสะท้านกับข่าวการซ้อมรบของสหรัฐฯในย่านนี้เท่าใดนัก เพราะได้ออกมาเตือนหลายครั้ง ถึงพฤติกรรมยั่วยุ แทรกแซงและการเคลื่อนไหวทางการทูตและทหารของสหรัฐในย่านนี้ มุ่งเป้ากดดันอาเซียนต่อต้านจีนอย่างโจ่งแจ้ง ในขณะที่สมาชิกอาเซียนยังคงมีจุดยืนเป็นตัวของตัวเอง แสวงหามิตรไม่ก่อศัตรูตามแรงผลักดันของสหรัฐ ตัวอย่างเช่นกรณีอินโดนิเซียล่าสุดนี่เอง!!