เพียบเมื่อชาวเน็ตจวกวิธีเลือกจ่าย 5,000 บาท ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากสาวที่โพสต์แค่เศษเงิน จากนั้นโลกโซเชียลฯก็ตามแฉอีกรายที่โชว์เยียวยาโควิด-19 ว่าแค่โกหกก็ได้เงิน ทำให้เกิดคำถามถึงวิธีคัดกรองว่าสุดจะเหลวหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.63 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ( นายอุตตม สาวนายน) เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้เข้ายื่นขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวนกว่า 22 ล้านรายในขณะนี้ ทำให้เกิดกระแสวิตกกังวลในหมู่ประชาชนถึงกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ว่า AI จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และจะมีช่องว่างให้ผู้ที่เดือดร้อนจริงถูกปฏิเสธการได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนขอให้ประชาชนมั่นใจว่า
“การตรวจสอบรับเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท แม้จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มามีส่วนร่วม แต่ก็มีความเข้มข้นและครอบคลุมทุกมิติ เพราะนอกเหนือจาก AI การตรวจสอบสิทธิ์ในครั้งนี้กระทรวงการคลังยังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งระบบคลังจังหวัด เครือข่ายธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 10 แห่ง รวมถึงในข้อกำหนดการรับสิทธิ์ก็ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงการคลังสามารถเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้กรณีมีข้อมูลไม่ชัดเจน”
นอกจากนี้นายธนกร กล่าวอีกว่า เราตั้งสมมุติฐานว่า ผู้ที่ยื่นขอรับสิทธิ์ทุกคนมีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างแท้จริง ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะละเลยความเดือดร้อนของประชาชน ขอเพียงประชาชนให้ข้อมูลที่เป็นจริง และได้รับความเดือดร้อนจริง ย่อมได้รับความเป็นธรรมในการตรวจสอบสิทธิ์แน่นอน ความผิดพลาดของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนสามารถผิดพลาดกันได้ ดังนั้น สำหรับคนที่กรอกข้อมูลผิดพลาด และต้องการจะเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือยกเลิกการลงทะเบียน ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ดูแลระบบกำลังเร่งพิจารณาปรับปรุงระบบการลงทะเบียนให้สามารถยกเลิกหรือแก้ไขข้อมูลได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทะเบียนให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ถึงมติเห็นชอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้ทบทวนมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาเพิ่มอีก 6 ล้านคน รวมเป็น 9 ล้านคน จากเดิมที่ 3 ล้านคน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตามนายชาญกฤช ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมากกว่า 22 ล้านคนแล้ว โดยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกแบรนด์ดังระดับโลกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ ทั้ง Amazon, Google, Uber, Apple, Netflix และ Facebook เพราะสามารถบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด
นอกจากนี้ AI ยังสามารถเรียนรู้ (Machine Learning) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารกรุงไทยเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการลงทะเบียนในระบบ โดยวิธีการตอบคำถามที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ หลังจากนั้นระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบคำถามของผู้ลงทะเบียนโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เลือกและคำถามที่ตอบไว้ ซึ่งตรงนี้ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่าสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ทางกระทรวงการคลังระบุไว้หรือไม่ โดยผลที่ได้จะมีความแม่นยำสูง ปราศจากความคิดเห็นส่วนตัวต่างจากมนุษย์ เพราะระบบ AI จะวิเคราะห์พร้อมประมวลผลข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้กรอก เพื่อเฟ้นหาผู้ที่เดือดร้อนจริงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้รับสิทธิ์เงินเยียวยารายละ 5,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563