ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ? อดีตรองอธิการมธ. จับพิรุธ “พิธา” ซักฟอกนายก! สอดรับ ว่าที่ทูตมะกันคนใหม่ เหมือนร่วมวางแผน-ทำเป็นขบวนการ?
จากกรณีที่ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงกรณีนาย Robert F. Godec ซึ่งกำลังจะมาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ได้พูดถึงปรับปรุงในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
นาย Robert F. Godec ซึ่งกำลังจะมาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐก่อนเดินทางมารับตำแหน่งว่า จะช่วยให้ประเทศไทยปรับปรุงในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และจะให้ไทยร่วมกดดันเมียนมาร์ด้วย เมื่อมีวุฒิสมาชิกตั้งกระทู้ถามเรื่องมาตรา 112 ที่ส่งผลถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีผู้ถูกจับกุมคุมขังมากมาย นาย Godec กล่าวว่า
สหรัฐให้ความเคารพต่อราชวงศ์ไทย และเข้าใจในความจงรักภักดีของคนไทยต่อราชวงศ์ แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเขาเคยเน้นย้ำต่อสาธารณะและโดยส่วนตัวว่า ที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวการถูกจับกุม และจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังกล่าวต่อไปว่า
” ผมขอย้ำว่า คนที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ในระหว่างการดำเนินคดี”
นอกจากนี้นาย Godec ยังกล่าวว่า จะกดดันให้ไทยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำม้นจากพม่า และจะพยายามให้ไทยเพิ่มแรงกดดันต่อพม่า เพื่อหยุดการกระทำอันเหี้ยมโหดของรัฐบาลเมียนมาร์ อีกด้วย
เพราะอะไรที่ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นที่ค่อนข้างก้าวร้าว และแสดงเจตนาที่จะแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างเปิดเผย คงไม่ใช่เป็นการพูดโดยไม่ได้คิด ตรงข้าม น่าจะเป็นการเตรียมล่วงหน้าที่จะพูดเช่นนี้
โดยปกติ สถานทูตของสหรัฐอเมริกาในทุกประเทศย่อมมีการปฏิบัติการเพื่อกดดันหรือชักจูงให้ประเทศนั้นๆดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลสหรัฐต้องการ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เท่าที่ได้เห็นหรือได้ฟังที่เอกอัครราชทูตของสหรัฐกล่าวว่าจะพยายามเข้าแทรกแซงกิจการภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่กำลังจะไปดำรงตำแหน่งอย่างเปิดเผยเช่นนี้
น่าสังเกตว่า ที่ท่านหัวหน้าพรรคก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีช่วงท้ายที่ว่า นายกรัฐมนตรีทำลายศักยภาพของประเทศไทยในต่างประเทศเพราะไม่เข้าไปกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ และทำลายศักยภาพของประชาชน เนื่องจากใช้มาตรา 112 ดำเนินการจับกุมคุมขังผู้ที่แสดงออกทางความคิด อันเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีของประชาชนเหล่านั้น เนื้อหาในการอภิปราย 2 ข้อนี้ตรงกับที่ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแสดงความคิดเห็นก่อนเดินทางมารับตำแหน่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน
นี่ย่อมไม่ใข่เป็นเรื่องบังเอิญ และไม่ใช่เป็นการที่ท่านหัวหน้าพรรคก้าวไกลไปเห็นข่าวของนาย Godec แล้วจึงนำมาพูดตามในสภา แต่น่าจะเป็นการววางแผนร่วมกันและทำกันเป็นขบวนการมากกว่า
ดังที่นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบโต้ในสภาว่า เพราะอะไรการจงใจละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเกิดมากขึ้น หนักข้อขึ้นในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ และในขณะที่มีพรรคการเมืองบางพรรคเกิดขึ้นใหม่
หากย้อนกลับไปดูก็จะพบว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีขบวนการล้มเจ้า และมีการละเมิดมาตรา 112 และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยกลุ่มนักวิขาการที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มนิติราษฏร์” แต่ก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวงจำกัด แต่นับตั้งแต่มีการจัด flash mob บน skywalk ที่ปทุมวัน นับแต่วันนั้น ก็มีกิจกรรมต่างๆที่จาบจ้วง ย่ำยี และหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระหว่างการชุมนุม และใน social media และมีมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในเวลาเดียวกัน ก็มีการรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งแนวความคิดเช่นนี้ได้ขยายไปอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่
ไม่น่าเชื่อว่า ท่านว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และท่านหัวหน้าพรรคก้าวไกล และบรรดานักวิชาการที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ล้วนเห็นตรงกันว่า พวกที่ทำการจาบจ้วง ย่ำยี และหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงออกของคนที่เห็นต่าง และการดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางจำคุกตั้งแต่ 8 ปี ถึง 15 ปี”
ดังนั้น หากเป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างโดยมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัขทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ไม่มีใครสามารถไปจับกุมคุมขังผู้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้มิใช่หรือ
ทำไมตรรกะง่ายๆเช่นนี้จึงไม่ยอมเข้าใจ หรือพยายามไม่เข้าใจ หรือเป็นเพราะพวกเขาต้องการให้มีแสดงออกที่เป็นการหมิ่นประมาท หยาบคาย และย่ำยีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ได้ต่อไปเรื่อยๆ ตามที่วางแผนกันไว้แล้วโดยไม่ต้องห่วงว่าจะถูกดำเนินคดี ……. ใช่หรือไม่