การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่งกลิ่นไม่ดีมาตั้งแต่ครั้งแรก จนต้องเกิดคดีความระหว่างรัฐและเอกชน หลังจากคำพิพากษาล่าสุดของศาลระบุว่า การล้มประมูลครั้งก่อนผิดกฎหมาย รฟม.ก็ยังเดินหน้าเร่งเปิดประมูลรอบใหม่อีก ในที่สุด “บีทีเอส” ก็ต้องได้ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอ ร้องเอาผิดตรวจสอบคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจนได้ ทำให้ให้รฟม.ต้องรีบออกมาเคลียร์สาธารณชน ประกาศจะใช้สิทธิอุทธรณ์โต้คำพิพากษาเพื่อรักษาสิทธิ์ตามกฎหมาย ด้าน “บีอีเอ็ม”คู่แข่งชิงดำรถไฟฟ้า โชว์ผู้โดยสารฟื้นหลังเปิดประเทศใช้บริการโต ๘๐% เร่งทำคะแนน
วันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๖๕ นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือBTSC เปิดเผยหลังเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอโดยมีพ.ต.ท.ยุทธนาแพรดำรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับเรื่องว่าเพื่อให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)ส่วนตะวันตก(ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ)
ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯได้พิจารณาแล้วพบว่าข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีเจตนากีดกันบริษัทฯไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจนอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.๒๕๔๒ จึงขอให้ดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษพ.ศ.๒๕๔๗
ด้านนายอัลวิน จี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่าขณะนี้ผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.นี้ กลับมาโตในระดับ ๘๐% เมื่อเทียบกับก่อนช่วงเกิดโควิด-๑๙ ในปี ๒๕๖๒ โดยคาดว่าทั้งปีมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ ๓.๕-๔ แสนคนต่อวัน ขณะที่ผู้ใช้ทางด่วน สิ้น มิ.ย. กลับมาอยู่ในระดับ ๘๕ % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-๑๙ หรืออยู่ที่ ๑ ล้านคนต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและโรงเรียนเปิดเทอม คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ด้านรฟม.นั่งไม่ติดเร่งแจงกรณีถูกร้องทุกข์กล่าวโทษฐานเปิดประมูลไม่เป็นธรรมส่อมีการฮั้วทำรัฐเสียหาย
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงกรณีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๕๘๐/๒๕๖๔ ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๐/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ให้เพิกถอนมติและประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชน นั้น คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ปัจจุบัน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ นั้น ศาลพิพากษาว่า ศาลไม่อาจมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ เนื่องจากมิใช่ประเด็นแห่งคดี ประกอบกับ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่๓๕๔/๒๕๖๔ ไม่รับฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
ส่วนกรณีการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วยทุกครั้ง ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอฯ ได้พิจารณาโดยอ้างอิงจากระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด
ทั้งนี้รฟม. เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคำพิพากษาและคำสั่งของศาลที่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากมีการดำเนินการของผู้ใดที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ รฟม. ซึ่งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและความสำเร็จของโครงการ รฟม. จำต้องรักษาสิทธิ์ในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง ๓๕.๙ กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง ๒๒.๕ กิโลเมตร จำนวน ๑๗ สถานี (สถานีใต้ดิน ๑๐ สถานี และสถานียกระดับ ๗ สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง ๑๓.๔ กิโลเมตร จำนวน ๑๑ สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)