จากที่สำนักข่าวเกียวโด รายงาน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ เดินทางมายังภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 และประธานาธิบดี ยาอีร์ ลาปิด แห่งอิสราเอลนั้น
ทั้งนี้รายงานยังระบุอีกว่า ได้มีการหารือทางออนไลน์กับผู้นำจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคอินโด แปซิฟิก
ขณะที่เพจ Thailand Vision ได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยระบุถึงแหล่งที่มาไว้อย่างน่าติดตามว่า “ประธานาธิบดีไบเดน ระบุในแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีลาปิดว่า การสร้างความมั่นใจว่าอิหร่านไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่สำคัญสำหรับทั้งอิสราเอล และสหรัฐฯ นอกเหนือจากส่วนอื่นของโลก
คำปฏิญาณดังกล่าวถูกระบุ ในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอล ซึ่งลงนามโดยผู้นำทั้ง 2 ชาติ หลังการเจรจาที่เยรูซาเลม และมีขึ้นเพื่อแก้ไขข้อกังวลของรัฐบาลอิสราเอลเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 ที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดน หวังว่าจะฟื้นฟูอีกครั้ง
ภายใต้ข้อตกลงที่หยุดชะงักร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนีนั้น อิหร่านตกลงที่จะระงับโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.) ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ ยินดียอมรับความเป็นผู้นำของอิหร่านที่จะกลับเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่ออย่างเป็นทางการ ว่าแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA)”
อย่างไรก็ตามยังมีรายงานด้วยว่า สำหรับสหรัฐฯและอิสราเอลนั้น ถือเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน เมื่ออิสราเอลประกาศก่อตั้งประเทศในปี 1948 สหรัฐฯ ถือเป็นชาติแรกที่ออกมารับรองอธิปไตย
การดำรงอยู่ของอิสราเอล คือภาพแทนของประชาธิปไตยท่ามกลางชาติอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่ยังคงมีกษัตริย์หรือมีผู้นำครองอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงเป็นที่มาที่ทำให้สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ อิสราเอลกลายมาเป็นฐานทหารสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในการส่งกองทัพไปเพื่อจัดการกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง ตลอดจนการทดสอบอาวุธสำคัญต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ เองก็มีงบประมาณช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารให้แก่อิสราเอลทุกปี
นอกจากนี้รายงานระบุอีกว่า เมื่อเสร็จสิ้นจากภารกิจเยือนอิสราเอล 2 วัน ประธานาธิบดีไบเดนจะเดินทางต่อไปซาอุดิอาระเบีย ภารกิจสำคัญคือ การโน้มน้าวให้ซาอุดิอารเบียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงานโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน