เปิดเบื้องหลัง “ลัทธิมูนนี่” ฉนวนเหตุ “อาเบะ” ถูกสังหาร มีบุคคลสำคัญทางการเมือง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คุ้มครอง!
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุด และถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ก็คือการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ในงานกิจกรรมทางการเมืองนอกสถานียามาโตะ-ไซไดจิในเมืองนาระ จังหวัดนาระ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างที่อาเบะกำลังปราศรัยเพื่อหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเสรีประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ก็ได้มีการจับตัวผู้กระทำความผิดได้ในทันที นั่นก็คือ เทตซึยะ ยามากามิ ซึ่งผู้ต้องหาได้อ้างว่า อาเบะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ลัทธิโทอิตสึเคียวไค หรือที่รู้จักในชื่อว่าโบสถ์แห่งความสามัคคี หรือที่ทั่วโลกเรียกกันว่า “มูนนี่” ซึ่งลัทธินี้หลอกเงินจากมารดาของเขา จนทำให้ล้มละลาย ในปี 2002 ครอบครัวพังพินาศ จึงเกิดความคับแค้นใจ และลงลอบสังหารในที่สุด
แต่ถึงอย่างไร นอกจากการลอบสังหาร อาเบะ แล้ว สิ่งหนึ่งที่สื่อทั่วโลกต่างมุ่งเป้าและให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่ากันนั่นก็คือ เบื้องหลังของ ลัทธิโทอิตสึเคียวไค
โดยทางด้านของ Globaltimes ได้เปิดเผยว่า ลัทธิโทอิตสึเคียวไค มีถิ่นกำเนิดในประเทศเกาหลีใต้ โดยก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2497 และมีผู้ก่อตั้งคือ “ซุน เมียง มูน” ลัทธิดังกล่าวนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีโบสถ์ผุดขึ้นมาประมาณ 30 แห่งในเกาหลีใต้ ก่อนที่จะขยายตัวแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1970 อีกทั้งยังได้มีการส่งทูตคริสตจักรของสหรัฐฯ ไปญี่ปุ่นในช่วงแรก ๆ ที่โบสถ์แห่งความสามัคคีพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยโบสถ์แห่งความสามัคคีนี้มักจะอ้างว่า “เขาสามารถทำงานที่ไม่สำเร็จของพระเยซูได้สำเร็จ” โดย มูน สนใจการเมืองเป็นพิเศษ หลังจากที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐ อเมริกา ก็ให้การสนับสนุน อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน แห่งสหรัฐฯ
ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 1960 มูน ได้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ในญี่ปุ่น และสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองญี่ปุ่น พร้อมทั้งแผ่ขยายโบสถ์แห่งความสามัคคีในญี่ปุ่น
มูน คลุกคลีอยู่กับ นักการเมืองระดับโลกจำนวนมาก จนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สอบสวน มูน อย่างหนักและพัวพันกับคดีสินบนนักการเมือง
น่าสนใจเข้าไปใหญ่ ในปี 2547 ทางด้านของนิวยอร์กไทม์ส ได้เปิดเผยข้อมูลถึง มูน ได้สวมมงกุฎ “ผู้กอบกู้มนุษยชาติ” ต่อหน้าสมาชิกสภาคองเกรสที่งานเลี้ยงอาหารกลางวันที่แคปิตอล ฮิลล์
โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงรวมถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปรากฏตัวในการประชุมครั้งดังกล่าว เช่น ประธานาธิบดีจอร์จ บุช นอกจากนี้ทางด้านของ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปราศรัยเชื่อมโยงกับโบสถ์แห่งความสามัคคี โดยเขายกย่องผู้ก่อตั้งโบสถ์แห่งความสามัคคี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2564
นอกจากนี้ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ ยังได้มีการเปิดเผยว่า มูน มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายในเกาหลีใต้ และยังมีผลประโยชน์ทางการค้าต่างๆ ในญี่ปุ่นอีกด้วย กล่าวกันว่าผู้บริจาคชาตินิยมฝ่ายขวาในญี่ปุ่นเป็นแหล่งการเงินที่สำคัญ ในสหรัฐอเมริกา เขามีผลประโยชน์ทางธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น เครื่องประดับและการก่อสร้าง และซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งโรงแรม New Yorker ในมิดทาวน์แมนฮัตตัน
ความเชื่อมโยงเหล่านี้จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิหลายคน ตั้งคำถามว่า เหตุใดกลุ่มศาสนาสุดโต่งจึงรอดมาได้หลายสิบปี? โดยทางด้านของ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านลัทธิชาวจีนซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ บอกกับ Global Times เมื่อวันที่ 14 ก.ค.65 ที่ผ่านมาว่า โบสถ์แห่งความสามัคคี ทำเงินโดยการขอเงินบริจาคจากผู้เชื่อโดยแสร้งทำเป็นสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิต
ซึ่งทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวยังได้ชี้ชัดว่า เหตุที่โบสถ์แห่งความสามัคคี ยังสามารถอยู่รอดมาได้อย่างยาวนานนั้นก็เพราะว่า มีบุคคลสำคัญทางการเมืองในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ทำหน้าที่เป็นร่มคุ้มครองของกลุ่ม
โดยเหตุที่นักการเมืองต่างๆต้องการสนับสนุนลัทธิดังกล่าวนี้ เนื่องจากผู้เชื่อในลัทธิสามารถเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ลัทธิส่วนใหญ่มีช่องทางในการเทศนาซึ่งนักการเมืองสามารถส่งเสริมความคิดเห็นทางการเมืองของตนได้