ฮือฮา!! จีนพร้อมจับมือตุรเคียพัฒนาแร่หายาก หลังอังการาพบมหึมาอันดับ ๒ ของโลก มากถึง ๖๙๔ ล้านตัน

0

มีการค้นพบธาตุหายากแหล่งใหม่อยู่ในตุรเคีย และเป็นแหล่งใหญ่เสียด้วย จนเกิดคำถามกันว่า จะเขย่าบัลลังก์จ้าวอุตสาหกรรมธาตุหายากอันดับหนึ่งในโลกของจีนได้หรือไม่ ทางด้านจีนนอกจากไม่อิจฉาแล้ว ยังประกาศพร้อมร่วมมือกับตุรเคียพัฒนาการผลิต เพราะที่ตุรเคียพบเป็นแร่ดิบ ส่วนของจีนสถิติบ่งบอกแร่หายากที่พร้อมนำไปใช้ นั่นหมายถึงจีนมีพร้อมทั้งประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป เรียกกันว่าทาบทามผ่านสื่อกันเลยก็ว่าได้ ต้องรอดูว่าตุรเคียจะเลือกใคร เพราะตอนนี้เล่นบทคบหมดทั้งฝั่งพันธมิตรตะวันออกที่มีรัสเซีย-จีน เป็นแกนนำ และฝั่งตะวันตกที่มีสหรัฐและยุโรปเป็นแกนนำ งานนี้ทำให้เนื้อหอมสุดๆ

วันที่ ๑๕ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวโกลบัลไทมส์และมาเก็ตวอทช์รายงานว่า ธาตุหายากหรือที่รู้จักกันว่า แรเอิร์ธ(rare-earth) เป็นโลหะ ซึ่งสกัดได้จากแร่ ด้วยกระบวนการสุดยาก และเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะขาดเสียไม่ได้ในการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ หลอดไฟแอลอีดี ไปจนถึงยวดยานพาหนะ อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับสูงอีกด้วย

ที่ผ่านมา การเป็นจ้าวอุตสาหกรรมธาตุหายากยังทำให้จีนถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐฯ ในการทำสงครามการค้าห้ำหั่นกัน

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวฮือฮาในวงการอุตสาหกรรม เมื่อเว็บไซต์ข่าว “มาร์เก็ต วอตช์” (Market Watch) รายงานว่า ตุรกีค้นพบแหล่งธาตุหายากในภูมิภาคอนาโตเลีย ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ ๒ ของโลก มากถึง ๖๙๔ ล้านตัน ซึ่งเท่ากับว่า อาจเพียงพอสำหรับปริมาณความต้องการในโลกได้ถึง ๑,๐๐๐ ปีเลยทีเดียว ตามรายงานข่าวระบุ

ฟาติฮ์ ดอนเมซ(Fatih Dönmez) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากร

ธรรมชาติ กล่าวเมื่อต้นเดือนทีผ่านมาว่า การแยกองค์ประกอบออกจะมีต้นทุนน้อยกว่า เนื่องจากปริมาณสำรองอยู่ใกล้ผิวน้ำมาก เขากล่าวเสริมว่า “จากธาตุหายาก 17 ชนิดที่รู้จัก ตุรเคียจะสามารถผลิตได้ 10 ชนิดที่นี่” 

การค้นพบนี้จะทำให้เกิดการผลิตในท้องถิ่นของธาตุหายากที่จะนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของตุรเคียเป็นหลัก แต่ยังเพื่อการส่งออกเป็นตัวเสริม

แหล่งค้นพบใหม่นี้จะข่มจีนได้หรือไม่ คำตอบของบรรดากูรูแดนมังกรยอมรับว่า อาจเป็นเช่นนั้น แต่ต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้เสียก่อนคือ

“เป่ากัง ยูไนเต็ตสตีล” (Bao Gang United Steel) รัฐวิสาหกิจด้านการผลิตธาตุหายากรายใหญ่สุดของจีน ซึ่งมีฐานอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ตั้งข้อสังเกตว่า ตามรายงานข่าวที่บอกว่า แร่หายากในตุรกีมีมากเกือบ ๗๐๐ ล้านตันนั้น หมายถึงอ็อกไซด์ของธาตุหายาก (REO) ซึ่งวงการอุตสาหกรรมใช้เป็นดัชนีชี้วัดผลผลิตและการจำหน่ายใช่หรือไม่  ถ้าใช่ ก็ต้องยกให้เป็นนัมเบอร์วันแทนจีน แต่ที่เป่ากังกำลังสงสัยอยู่ก็คือ ปริมาณที่ระบุนั้นน่าจะเป็นเนื้อแร่เสียมากกว่ากระมัง

สอดคล้องกับความเห็นของ “เซิงเหอ รีซอสเซส” (Shenghe Resources) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ด้านธาตุหายากอีกรายของจีน ซึ่งลงบทความในบัญชี “วีแชต” (WeChat) ของบริษัทว่า ๖๙๔ ล้านตันน่าจะมีองค์ประกอบของแร่มากกว่า REO

ปัจจุบัน จีนเป็นชาติผู้ผลิตและผู้ใช้ธาตุหายากรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ ๖๐ ของการผลิตทั่วโลกในปี ๒๕๖๓ นอกจากนั้น ยังมีแหล่ง REO มากถึง ๔๔ ล้านตัน หรือร้อยละ๓๗ ของส่วนแบ่งในตลาดโลกอีกด้วย

ถ้าแหล่งธาตุหายาก ๖๙๔ ล้านตันของตุรกีเป็น REO ทั้งหมดจริง ก็เท่ากับว่ามี REO มากกว่า ที่มีการตรวจพบในโลกถึง ๕.๘ เท่า นี่เป็นเรื่องที่ทำให้คนวงในอุตสาหกรรรมยิ่งคาดเดาสงสัยไปกันใหญ่ เกี่ยวกับความแม่นยำถูกต้องของข้อมูล

จากการคำนวณของนาย อู๋ เฉินฮุ่ย (Wu Chenhui)นักวิเคราะห์อิสระด้านอุตสาหกรรมธาตุหายากนั้น ตุรเคียน่าจะมีธาตุหายากราว ๓๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งจีนสามารถผลิตได้ภายในครึ่งปี

ผู้จัดการแซ่หยาง แห่งบริษัทผลิตแม่เหล็ก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ ในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ชี้ว่า เหตุผล ที่จีนเป็นนัมเบอร์วันในอุตสาหกรรมธาตุหายาก มิใช่ด้วยมีแหล่งธาตุหายากขนาดใหญ่ แต่เป็นเพราะจีนมีความสามารถในกระบวนการผลิต และมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม ที่ครบวงจรต่างหากเล่า

ออสเตรเลีย แอฟริกา สหรัฐฯ และชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ก็ค้นพบแหล่งธาตุหายาก ที่อุดมสมบูรณ์ เช่นกัน แต่ยังขาดเทคโนโลยีในการสกัดและการแยกนั่นเอง โดยห่วงโซอุปทานที่ครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจ การขุด การบด และการขนส่ง ยังทำให้จีนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ตาม เรื่องการค้นพบแหล่งธาตุหายากในตุรเคียนี้ กูรูแดนมังกรมองในแง่ดีว่า อาจจะนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างชาติทั้งสองในอนาคต เช่น ตุรเคียอาจทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยูกับจีน และจีนก็อาจให้บริการด้านเทคนิคแบบครบวงจรแก่ตุรเคียได้ ตั้งแต่การสำรวจไปจนถึงการซื้อและการจำหน่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้นกับทั้งสองฝ่าย

ประเด็นนี้ทำสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกทั้งหลายจ้องตาเป็นมัน เพราะตุรเคียเป็นสมาชิกหนึ่งในนาโต้ และกำลังมีประเด็นกับสมาชิกใหม่ทั้งฟินแลนด์และสวีเดน เรื่องจะขัดขวางการไม่ให้เป็นสมาชิกอีกรอบเพราะทั้งสองประเทศไม่ยอมส่งตัวผู้ก่อการร้ายในสายตาของตุรเคียตามที่รับปาก   การค้นพบแร่หายากอาจจะทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นหรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป!!