ราคาปุ๋ยโลกดิ่ง แม่ปุ๋ยยูเรียร่วง ๓๐๐ เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือ ๗๐๐ เหรียญสหรัฐต่อตัน เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทย ๑๑ ราย เร่งเจรจาปิดดีลปุ๋ย ๑ ล้านตัน จาก ๓ บริษัทซาอุฯ คาดใช้เวลา ๑-๒ เดือนส่งถึงไทย วงการปุ๋ยเปิดเผยว่า อุปสรรคการต่อรองช่วงราคานำเข้าขาลง คือต้องแบกรับความเสี่ยงต้นทุนค่าขนส่งผันผวน เพราะปัญหาราคาพลังงานยังไม่เสถียร หวั่นหลังนำเข้ารัฐไม่ให้ปรับขึ้นราคาไม่คุ้มที่ขาดทุนเรื้อรังตั้งแต่ปลายปี’๖๔
แหล่งข่าวจากวงการปุ๋ย กล่าวว่า เอกชนไทย ๑๑ รายที่ประสงค์จะซื้อปุ๋ยเตรียมเจรจาข้อสรุปเรื่องราคานำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายหลังจากรัฐบาล ๒ ฝ่ายเห็นชอบในหลักการว่าจะต้องซื้อขายกันในราคามิตรภาพ พร้อมประมาณการณ์ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ ๘ แสนตัน แต่อาจเพิ่มขึ้นเป็น ๑ ล้านตัน
“ตอนนี้เอกชนกังวลว่าเจรจาราคาไปแล้วกว่าจะถึงเวลาที่ต้องส่งมอบ ๑-๒ เดือนราคาตลาดโลกลงจะลดลงไปอีก จากปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดโลกอยู่ในภาวะขาลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยราคาเอฟโอบีแม่ปุ๋ยยูเรีย เมื่อตอนไตรมาส ๑ ขึ้นไปถึง ๑,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อตัน ตอนนี้ลดลงมาเหลือ ๗๐๐ เหรียญสหรัฐแล้ว ทั้งยังมีการประเมินแนวโน้มตลาดปุ๋ยช่วงครึ่งปีหลังว่าจะอยู่ในภาวะสโลว์ดาวน์ รัฐบาลทุ่มงบประมาณสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ค่าบาทก็อ่อน ทำให้การกำหนดราคาตอนนี้มีความเสี่ยง เราต้องเจรจาว่าทางซาอุฯจะยอมปรับลดราคาให้หรือไม่หากราคาลงไป”
“นอกจากนี้การกำหนดปริมาณการซื้อขายจะแบ่งเจรจาเป็นลอตๆไม่ได้ เพราะหากทุกรายนำเข้ารวมกันน้อยเกินไป หรือน้อยกว่าขนาดบรรทุกของเรือใหญ่ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ตัน ก็มีผลต่อราคาปุ๋ยและต้นทุนค่าขนส่งด้วย ตอนนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนี้ไว้อย่างไร”
ส่วนราคาจำหน่ายในประเทศหลังจากนำเข้านั้น ตามหลักการกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งเอกชนเสนอขอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้โครงสร้างราคาที่ถัวเฉลี่ยกัน กล่าวคือเอกชนได้ยื่นขอปรับราคาจากต้นทุนวัตถุดิบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส ๑ ปี ๒๕๖๕ ซึ่งราคาปุ๋ยขยับขึ้นไปสูงมาก เอกชนหลายรายประสบภาวะขาดทุน และยังต้องบริหารจัดการสต๊อกซึ่งมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์อีก
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตร เปิดเผยว่า ข้อสรุปการเจรจานำเข้าปุ๋ยซาอุฯ คาดว่าจะมีการนำเข้าตั้งแต่ ๘ แสนตัน ไปจนถึงสูงสุด ๑ ล้านตัน แต่ยังต้องใช้เวลาในการเจรจารายละเอียดด้านราคาของผู้ผลิตแต่ละราย และเตรียมกระบวนการนำเข้าคงใช้เวลาประมาณ ๑-๒ เดือน
จากนั้นจะนำไปสู่โครงสร้างราคาตามต้นทุนใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้หลักการว่าจะพิจารณาตามต้นทุนนำเข้า จะถูกลงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนนำเข้า ซึ่งระดับราคาแม่ปุ๋ยต้นปีและราคาขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความแตกต่างกันสูง จึงควรจะนำมาพิจารณาถัวเฉลี่ยกัน เพื่อสร้างความสมดุลให้ผู้ผลิตอยู่ได้เกษตรกรอยู่ได้ และต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมที่ไม่ได้คุณภาพคู่ขนานไปด้วย
“เอกชนขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และหอการค้าไทยที่ช่วยประสานให้เกิดการเจรจานำเข้า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระเรื่องปุ๋ยช่วยเกษตรกร ทั้งการช่วยประสานกับผู้ผลิตปุ๋ยซาอุดีอาระเบียให้กับผู้ผลิตปุ๋ย ทั้งยังมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี แต่สิ่งสำคัญในการดูแลภาคเกษตรจะต้องไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตตั้งแต่ต้นทาง คือ เมล็ดพันธุ์ที่ดีเป็นต้นมา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเกษตรกรไทยแข่งขันได้ในตลาดโลกในอนาคต”
สถานการณ์การนำเข้าปุ๋ยในช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า ๔๔,๐๑๖ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๗๐% โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ ๑ มูลค่า ๖,๘๕๐.๒๘ ล้านบาท ลดลง ๕.๗๔% คิดเป็นสัดส่วน ๑๕.๕๖% ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ ๒ แต่มีสัดส่วนถึง ๑๕.๔๗% ห่างกันไม่มากนัก และมูลค่านำเข้า ๖,๘๐๘.๘๔ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๗๑.๙๔% ซึ่งจากนี้มีโอกาสจะนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก ๘ แสนถีง ๑ ล้านตัน ก็มีโอกาสขยับขึ้นเป็นอันดับ ๑ ส่วนแหล่งนำเข้าอันดับ ๓ คือ รัสเซีย มูลค่า ๔,๘๔๑.๖๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๗๑.๐๒% คิดเป็นสัดส่วน ๑๑%