ช่วงชิงโอกาส!! เปิด ๗ ความก้าวหน้าการบินไทย รับอุตฯท่องเที่ยวพลิกฟื้น ปักธงออกจากแผนฟื้นฟูปี ’๖๗

0

ผลการประชุมครม.ที่ผ่านมา เปิดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  ๗ ด้าน โชว์กระแสเงินสด สิ้นเดือน มิ.ย. ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท สูงสุดในรอบ ๒๔ เดือนคาดอาจสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดภายในปี ๒๕๖๗ หรืออย่างช้า ต้นปี ๒๕๖๘ ผลบวกจากการเปิดประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้รายได้จากตั๋วโดยสาร จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้จากนอนแอร์โรว์เป็นไปอย่างน่าพอใจ

วันที่ ๑๓ ก.ค. ๒๕๖๕ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการ ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)   คาดจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในปี 2567 

คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๖  กรกฎาคม ๒๕๖๕ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. การหารายได้จากการขนส่ง

บกท. มีรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕  มีส่วนแบ่งจำนวนผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ ๓๓ ของจำนวนผู้โดยสารของทุกสายการบิน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของปี ๒๕๖๒  โดย บกท. มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๒,๖๕๔ คนต่อวัน และผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์สูงกว่า ๑๒,๐๐๐ คนต่อวันรวมทั้ง ยังมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ จำนวน ๒,๐๕๗  ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี ๒๕๖๒  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๔

๒. การปรับลดขนาดองค์กรและต้นทุนบุคลากร ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลดลงจาก ๒๙,๔๐๐ ล้านบาทต่อปี เหลือ ๗,๙๒๐ ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่ลดลงประมาณร้อยละ ๗๓

๓. การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยาน  โดยปรับลดจำนวนแบบอากาศยานในฝูงบินจาก ๙ แบบ เป็น ๔ แบบ ลดต้นทุนด้านอากาศยานลง ๘,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี

๔. จำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบินของ บกท. ประกอบด้วย  อากาศยานแบบโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ จำนวน ๑๑ ลำ  อากาศยานแบบแอร์บัส  ๓๔๐ –  ๕๐๐ จำนวน ๑ ลำ  แบบแอร์บัส ๓๔๐-๖๐๐ อีก ๔ ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างรอการจำหน่ายจำนวน ๑๘ ลำ

๕. การปรับลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนลง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี

๖. การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินรอง ตั้งแต่เข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมจำนวน ๙,๒๕๘ ล้านบาท ทั้งนี้ บกท. ยังมีทรัพย์สินรองที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่าย ได้แก่ เครื่องบินฝึกจำลองที่ไม่อยู่ในแผนดำเนินงาน อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ  รวมทั้ง ยังมีการหาประโยชน์โดยการให้เช่าพื้นที่สำนักงานใหญ่ ในนส่วนที่ไม่ได้ใช้งานสำหรับการให้บุคคลภายนอกเช่า

๗. การติดตามหนี้สินที่เกินกำหนดชำระจากลูกหนี้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กองบินตำรวจ กองทัพอากาศ เป็นต้น

โดย บกท. มีเงินสดสุทธิ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ประมาณ ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ ๒๔ เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ทำให้ในขณะนี้ บกท. ยังไม่มีความจำเป็น ต้องจัดหาสินเชื่อใหม่ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท  ทั้งนี้ บกท. ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ และคาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขในเดือนกันยายน ๒๕๖๕

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  อาจทำให้ บกท. สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดภายในปี ๒๕๖๗ หรือต้นปี ๒๕๖๘ โดย  ขึ้นอยู่กับการปรับแผนฟื้นฟูที่มีสาระสำคัญ คือ การแปลงหนี้เป็นทุน  และนับตั้งแต่การเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทำให้การประกอบของ บกท. ดีขึ้นตามลำดับ สามารถทำการบินในเส้นทางต่างๆ ทำให้มีรายได้และสภาพคล่องมากขึ้น สามารถลดวงเงินกู้ตามแผนจากเดิมที่ตั้งไว้ประมาณ ๕ หมื่นล้าน โดยจะกู้จริงไม่เกิน ๑.๒๕ หมื่นล้าน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ  ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อตั๋วโดยสารค้างไว้ ยังไม่ได้เดินทาง ก็สามารถใช้สิทธิบินตามตั๋วได้  รวมทั้งการสะสมไมล์ Royal Orchid Plus  สะสมไมล์ ยังสามารถแลกเป็นตั๋วเครื่องบินตามสิทธิ์เช่นเดิมได้