จีนไม่สนครหา!!ยื่นมือช่วยศรีลังกา ส่งข้าวสาร ๑,๐๐๐ ตันช่วยนร. ๑.๑ ล้านคน เปิดหนี้ปักกิ่ง ๑๐%ไม่ใช่ต้นเหตุศก.ล่ม

0

สถานการณ์ล่าสุดของศรีลังกาคือ ประธานาธิบดีศรีลังกาหลบหนีออกนอกประเทศแล้วในช่วงเช้าวันพุธที่ ๑๓ ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากบรรดาผู้ประท้วงบุกเข้าทำเนียบที่เป็นบ้านพักของประธานาธิบดี และบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมานาน ๓ เดือน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ในขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติกำลังดำเนินอยู่โดยแกนนำฝ่ายค้านและคณะบริหารบางส่วน นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงเห เผยว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่ง เมื่อครั้งได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนแล้ว

ด้านจีนซึ่งถูกป้ายสีว่าเป็นต้นเหตุของการล่มสลายทางเศรษฐกิจของศรีลังกาเพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ไม่สนใจข้อครหาที่สื่อตะวันตกโหมกระพือ ประกาศพร้อมร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อช่วยศรีลังกาจัดการกับปัญหาในปัจจุบัน และเร่งส่งมอบข้าวสารจำนวน ๑,๐๐๐ ตันช่วยนักเรียนกว่า ๑ ล้านคนตามสัญญาโดยเร็ว นอกจากนี้ ได้เปิดเผยตัวเลขหนี้สินของศรีลังกาว่าข้อเท็จจริงแล้วเป็นหนี้จีนเพียง ๑๐% เจ้าหนี้รายใหญ่เป็นมาร์เก็ตบอเรอร์อิง(Market Borrowings) ๔๗% รองลงมาคือADB:Asian Development Bank ๑๔% ญี่ปุ่น ๑๐%และเวิร์ลแบงก์ ๙% และหนี้ภายนอกที่ไม่ระบุจากสถาบันการเงินต่างชาติเอกชนจำนวนมาก สะท้อนปัญหาที่แท้จริงว่า ไม่ใช่ปัญหาหนี้สินล้นอย่างเดียว  มีปัจจัยด้านลบภายในที่สะสมและ วิกฤตภายนอกกดดันประกอบกับการไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลไม่อาจรับมือคลื่นวิกฤตรอบด้านจึงต้องประสบชะตากรรมอย่างที่เห็น ตรงข้ามกับที่ตะวันตกพยายามกล่าวโทษการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานของจีนเป็นต้นเหตุ และจีนไม่ใช่เจ้าหนี้รายใหญ่

วันที่ ๑๓ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวโกลบัลไทมส์รายงานว่า หวัง เหวินปินโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงข่าวประจำวันว่า  จีนจะยังคงให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกาต่อไป และสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน 

คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสื่อต่างประเทศอ้างว่าศรีลังกาซึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและหนี้สิน และประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง กำลังหารือกับญี่ปุ่น และอาจจะกับจีนในอนาคตเกี่ยวกับ “การจัดหาเงินทุนสนับสนุน”

หวัง กล่าวว่า จีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉินแก่ศรีลังกาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข้าวจำนวน ๑,๐๐๐ ตันที่ชาวจีนบริจาคให้นักเรียนศรีลังกา ถูกส่งไปยังกระทรวงศึกษาธิการในท่าเรือโคลัมโบ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ๔๘ ตู้จากจีนส่งไปยังโรงเรียน ๗,๙๐๐ แห่งในศรีลังกา เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารของโรงเรียน ในการจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ทุกวันแก่เด็ก ๑.๑ ล้านคนเป็นเวลาหกเดือน และทางการจีนได้เร่งการจัดส่งข้าวบริจาคอีก ๒ รายการโดยถึงศรีลังกาในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตจีนกำลังหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในท้องที่ในการจัดหาชุดนักเรียนสำหรับนักเรียนศรีลังกาในปีการศึกษาใหม่

ทั้งนี้จีนจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือศรีลังกาต่อไป ตามความสามารถที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนทั่วไปได้ แต่ผู้สังเกตการณ์ชาวจีนกล่าวว่าองค์กรการเงินมืออาชีพ เช่น องค์การระหว่างประเทศ กองทุนการเงิน (IMF) และธนาคารโลกควรรับผิดชอบส่วนใหญ่ในการจัดการกับวิกฤตนี้ โดยอาศัยการประสานงานกับเจ้าหนี้ทุกรายอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเจ้าหนี้การค้าและสถาบันการเงินพหุภาคีเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา 

เฉียน เฟง(Qian Feng) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ National Strategy Institute แห่งมหาวิทยาลัยซิงหัว (Tsinghua) กล่าวว่าทัศนคติของจีนบ่งบอกถึงมิตรภาพและความเห็นใจต่อพันธมิตรระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ

ไม่เพียงเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้สังคมระหว่างประเทศช่วยศรีลังกาเอาชนะความยากลำบากอีกด้วย เขากล่าวว่า “ศรีลังกาต้องการการสนับสนุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน” 

ในแง่ของ “กับดักหนี้ของจีน” ที่ประเทศตะวันตกอ้างว่ามีส่วนทำให้เกิดวิกฤตของศรีลังกา เฉียนชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะภายนอกของจีนในศรีลังกานั้นมีเพียงเล็กน้อย เหตุผลที่ประเทศตะวันตกกำลังละเลงจีนเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ของศรีลังกาก็คือพวกเขาไม่เต็มใจที่จะเห็นอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน 

เขาคาดว่าในขั้นตอนต่อไปจีนจะเตรียมการอย่างเหมาะสมและให้ความช่วยเหลือตามความสามารถในแง่ของการปรับโครงสร้างหนี้และวิธีการชำระหนี้ 

ด้านสถานการณ์ในศรีลังกายังไม่สงบราบรื่น แม้รัฐสภาเห็นพ้องกันในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ ๑๑ ก.ค.ที่ผ่านมา ให้เลือกประธานาธิบดีคนใหม่จากสมาชิกในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม แค่พวกเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าใครจะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งไปจนหมดวาระของราชปักษา ที่สิ้นสุดในปี ๒๐๒๔ และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาหลังจากนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงตอนนั้น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะทำหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดี จนกว่าจะมีการเลือกคนใหม่ ขั้นตอนการเตรียมการที่แน่นอนว่ามันคงสร้างความขุ่นเคืองแก่ผู้ประท้วงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากบรรดาผู้ชุมนุมต้องการให้ วิกรามาสิงเห ลาออกไปในทันที คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ใครจะเข้ามามีบทบาทจัดสรรผู้นำองค์กรอำนาจรัฐของศรีลังกา และเมื่อหมอกควันแห่งการจลาจลจางลง จึงจะได้เห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงของศรีลังกาครั้งนี้ใครจะคว่าประโยชน์ได้สูงสุดและเอื้อต่อประชาชนศรีลังกาอย่างแท้จริงหรือไม่ ไม่นานคงมีคำตอบ!!!