เปิดลึก “ศรีลังกา” ล้มละลาย! ตระกูลเดียวครองอำนาจยาว 20 ปี รบ.ไม่หนุนผลิตอาหารเอง-แถมเป็นหนี้อื้อ!
จากกรณีที่มีรายงานว่า โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา หลบหนีออกจากที่พักในกรุงโคลัมโบ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนที่ผู้ประท้วงหลายพันคนจะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจ เข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมเรียกร้องให้เขาลาออก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ต่อมาทางด้าน World Update ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ศรีลังกา ล้มละลาย ตระกูลเดียวครองอำนาจ ทำการเมืองระส่ำ โดยอ้างอิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า
ศรีลังกา อดีตชาติอาณานิคมสหราชอาณาจักร ที่เป็นบริวารฝ่ายระเบียบโลกเก่ามาช้านาน แม้ได้รับเอกราชนานว่า 74 ปี ตั้งแต่ 1948 แต่ความคิดผู้คนยังฝังกับสิ่งที่ชาวตะวันตกปลูกฝัง นักการเมืองตระกูลราชปักษา ครองอำนาจหยั่งรากลึกทางการเมืองยาวนานกว่า 20 ปี โดยการสนับสนุนจากสหรัฐ , มีประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา , และนายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา ผู้เป็นน้องชาย ระบบเส้นสายราชการล้วนสกุลราชปักษาครองหมด ถึงขนาดผู้แทนจีนที่มาเยือนศรีลังกาถามด้วยความประหลาดใจที่พบว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนที่ติดต่องานด้วย ล้วนแต่สกุลเดียวกันหมด “ประเทศนี้ทุกคนนามสกุลราชปักษาหมดเลยหรือ”
เมื่อก่อนรายได้ส่วนใหญ่ศรีลังกา มาจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติตะวันตกที่ร่ำรวย และการส่งเงินส่งกลับบ้านจากผู้ที่ทำงานในต่างประเทศ เงินทุนสำรองรัฐกว่า 70% สะสมเป็นดอลลาร์กระดาษ มีเงินรูปีราว 30% รัฐหลงระเริงไม่สนใจสนับสนุนการผลิตสินค้าเอง ไม่สนับสนุนภาคเกษตรผลิตข้าวหรือใบชาเคยเป็นจุดแข็ง (ผลผลิตข้าวหายไป 50%) ไม่สนับสนุนภาคประมง รัฐบาลตระกูลราชปักษา ที่ประชาชนนิยมจากผลงานปราบก่อการร้าย ดำเนินนโยบายใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อเกินตัว กู้ยืมต่างชาติ ออกพันธบัตร พิมพ์เงินไร้ทองคำค้ำประกัน เลียนแบบสหรัฐทุกอย่าง ต่อมาเกิดโรคโควิด-19 ระบาดรายได้การท่องเที่ยวหดหาย แรงงานส่งเงินกลับประเทศก็ลดลงมาก
ทำให้ฐานะการเงินสาธารณะของศรีลังกาอ่อนแอลง รายจ่ายมากกว่ารายได้ขาดดุลการค้า สินค้าและบริการที่เคยใช้เงินซื้ออย่างเดียว ทำให้ฐานะเงินคงคลังและเงินทุนสำรองร่อยหรอ ไม่เพียงพอรับสถานการณ์เลวร้าย รัฐบาลราชปักษาลดหย่อนภาษีหวังดึงเงินทุนตะวันตกไหลเข้า , ปลายปี 2021 จีนได้ช่วยแลกเงินดอลลาร์ออกไปมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ , ต้นปี 2022 ตระกูลราชปักษาได้ขอจีนช่วยปรับโครงสร้างหนี้กว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ (จีนเป็นเจ้าหนี้สัดส่วนแค่ 10% ของทั้งหมดเท่านั้น) , อินเดียได้ขยายเงินกู้หลายเพื่อช่วยจ่ายค่าอุปกรณ์ที่จำเป็น มูลค่ากว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ (อินเดียเป็นเจ้าหนี้ราว 10% เช่นกัน) แต่ชาติตะวันตกเจ้าหนี้ใหญ่ 80% ไม่ยอมช่วยใดๆ สักดอลลาห์ แต่บีบศรีลังกาให้กู้กองทุนการเงิน IMF ลูกเดียว
เมื่อเข้าตาจนรัฐบาลก็พิมพ์เงินไร้ทองคำเพิ่ม เพื่อใช้หนี้ต่างชาติ พันธบัตร และเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ ค่าเงินรูปีก็อ่อนค่าถูกลดทอนลงด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศดอลลาร์ หน่วยงานจัดอันดับสถานะการเงินรัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมากได้ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา รัฐบาล ยังคงเดินหน้าพึ่งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศตะวันตกอย่างหนัก เงินสำรองดังกล่าวมากกว่า 70% หมดในเวลาแค่ 2 ปี , ภายหลังสหรัฐ คว่ำบาตรรัสเซีย รูเบิลแข็งขึ้น สหรัฐ เงินเฟ้อสูง เงินดอลลาร์มหาศาลถูกนานาชาติเทขายทุนสำรองทิ้ง ดอลลาร์ไหลกลับประเทศต้นทางสหรัฐ
เงินทุนดอลลาร์ก็ไหลออกจากศรีลังกา และลากเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองให้พังทลายยับเยินไปด้วย , เดือน เม.ย.2022 ม็อบชาวศรีลังกาเดือดร้อนจากน้ำมันแพง และขาดแคลน เพราะรัฐบาลราชปักษาไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูป แถมปิดโรงกลั่นน้ำมันดิบตนเองไปแล้ว เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขาดแคลนเชื้อเพลิง ไฟดับบ่อยครั้ง และโรงพยาบาลต่างๆ ก็ขาดแคลนยา อัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้ , เดือน พ.ค.2022 นายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา ผู้เป็นน้องชายลาออกไป เปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห แต่เขารับหน้าที่เพียงเดือนเดียวทำอะไรไม่ได้มาก
รัฐบาลศรีลังกาเกรงสหรัฐฯ มากจึงซื้อน้ำมันรัสเซีย ผ่านบริษัทลูกที่ดูไบ UAE และประกาศแค่ว่าจะส่งรัฐมนตรี 2 คนเดินทางไปพบผู้นำรัสเซีย เพื่อขอซื้อน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้ทำ ยื้อถ่วงเวลาจากการเมืองภายในแตกแยก และแรงบีบจากสหรัฐ ที่ขู่ด้วยเงินกู้ IMF ไม่ให้ตระกูลราชปักษาไปซบฝ่ายจัดระเบียบโลกใหม่ รัสเซีย และจีน จนรัฐบาลต้องอยู่นิ่งๆ ไม่กล้าทำอะไร รอเพียงเงินกู้ตะวันตกอนุมัติเท่านั้น ไม่ส่งใครไปพบขอความช่วยเหลือรัสเซีย จีน ตามที่ออกข่าวทั้งสิ้น , เดือน มิ.ย.2022 สถานการณ์เลวร้ายลง อัตราเงินเฟ้อ 54.6% และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 70% ผู้นำฝ่ายค้านและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการหาแหล่งทุนด่วน แต่ตระกูลราชปักษาก็หวังว่าการท่องเที่ยวจะพาเงินต่างชาติดอลลาร์กลับมา และคนงานจะส่งเงินกลับคืนมาก็จะฟื้นตัว
ล่าสุดประชาชน ทนใจเย็นรอแบบตระกูลราชปักษาขนาดนั้นไม่ไหว จึงก่อจราจลบุกที่พักประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา และเผาบ้านนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห จนทั้ง 2 คนประกาศว่าจะยอมลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันในสัปดาห์นี้ ทำให้ฝูงชนสงบลงกลับบ้านไป ศรีลังกายามนี้จึงมีความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ , ประธานรัฐสภา มหินดา ยาปา อเบวาร์เดนา จะเข้ารับตำแหน่งประมุขชั่วคราวของประเทศ จนกว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่
ขณะนี้พรรค UPF ฝ่ายค้านหลักศรีลังกา รวบรวมเสียงพรรคเล็กพรรคน้อย และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลได้ราว 113 เสียง หวังตั้งรัฐบาลแห่งชาติเสียงข้างมาก ปัญหาวุ่นวายของศรีลังกาเพิ่งเริ่มยกใหม่ ตราบเท่าที่สลัดตัวเองไม่หลุดจากบริวารระเบียบโลกเก่า และพึ่งพิงเงินทุนดอลลาร์อยู่แบบนี้ ตั้งรัฐบาลใหม่ก็ไร้เสถียรภาพ และไม่พ้นจากการครอบงำของ IMF จนล่มลงไม่พ้นขายทรัพย์สินชาติ นี่คือภัยร้ายจากเลือกนักการเมืองตระกูลเดียวอำนาจครอบงำพรรค และภัยจากสะสมดอลลาร์เป็นทุนสำรองมากเกินไป ไม่ซื้อเงินหยวนที่เงินเฟ้อต่ำกว่ามาถ่วงดุล และไม่ส่งเสริมภาคการผลิต ประมง เกษตร ผลิตอาหารให้พอในประเทศ..ชาวอาเซียนดูบทเรียนศรีลังกาไว้