จุดจบอันน่าตื่นตะลึงของการครอบงำการเมืองในศรีลังกาของตระกูลราชปักษาที่คุมบังเหียนประเทศมายาวนานกว่า ๒ ทศวรรษเกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อคนนับแสนบุกเข้ายึดบ้านพักประธานาธิบดี การประท้วงดำเนินไปอย่างดุเดือดในที่สุดกดดันทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีต้องลาออก สถานการณ์จึงลดความร้อนแรงลงในวันนี้
ลางร้ายก่อตัวมานาน แต่เด่นชัดขึ้นเมื่อศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศในเดือนพฤษภาคมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ราคาอาหารและค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อกระฉูด เป็นจุดร้อนที่ส่งผลกับความขัดแย้งการเมืองที่ไม่ลงตัวมายาวนาน การปันส่วนเชื้อเพลิงถูกนำมาใช้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และทางการได้ส่งตำรวจติดอาวุธและทหารไปยังสถานีบริการน้ำมันคุมการซื้อขาย สร้างความไม่พอใจอย่างสูงแก่ประชาชน วิกฤตนี้มีสาเหตุมาจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล ในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-๑๙ ซึ่งทำให้ประเทศเกาะขาดรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญ การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น การลดภาษี และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมือง และการเติบใหญ่ของฝ่ายต่อต้านผู้นำ และรัฐบาล ที่สนับสนุนจากตะวันตก
วันที่ ๑๑ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวอัลจาซีรารายงาน ความคืบหน้าเหตุความวุ่นวายที่ประเทศศรีลังกาว่า ล่าสุดความสงบสุขได้กลับคืนสู่ถนนหลายสายในกรุงโคลอมโบของศรีลังกาอีกครั้ง และผู้ประท้วงต่างยินดีปรีดาที่ประธานาธิบดีโกตายาบา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ประกาศลาออก หลังบ้านพักถูกฝูงชนบุก ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนที่เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศ
ประชาชนจำนวนมาก ได้ออกมาประท้วงเพื่อต้องการให้ราชปักษาลาออก หลังบริหารประเทศล้มเหลวทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชน ๒๒ ล้านคนเผชิญการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง ส่วนเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ ๕๔.๖ เมื่อเดือนมิถุนายน
วิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกาเกิดขึ้น หลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานศรีลังกาที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ
ผู้คนราว ๑๐๐,๐๐๐ คนได้ล้อมทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาในกรุงโคลัมโบเมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ก.ค.ที่ผ่านมากดดันให้ในที่สุด ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ต่างก็ต้องประกาศลาออกท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ
ฝ่ายค้านกำลังประชุมกันในเมืองหลวงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพื่อตกลงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยหลายฝ่าย
นักวิเคราะห์การเมืองอรุนา กุลาตุงกา (Aruna Kulatunga) กล่าวว่าใครก็ตามที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของศรีลังกาช่วงนี้ งานนี้ไม่เพียงแต่จะยากเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่ “อันตราย” ด้วย ข้อผิดพลาดมากมายที่รออยู่ข้างหน้าอาจรวมถึงการตัดสินใจว่าจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก IMF หรือไม่ หรือศรีลังกาจะตัดสินใจเป็นรัฐนอกรีตและหยุดรับรู้หนี้ของเราต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งก็ทำได้ยาก”
หลายคนเชื่อว่าเงินช่วยเหลือของ IMF ที่คาดการณ์ไว้มาก อาจล่าช้าเนื่องจากวิกฤตทางการเมือง เจ้าหน้าที่ IMF กล่าวว่าพวกเขาหวังว่าสถานการณ์ในศรีลังกาจะดีขึ้น “เรากำลังติดตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในศรีลังกาอย่างใกล้ชิด เราหวังว่าจะมีการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจะทำให้การเจรจาของเรากลับมาเริ่มต้นใหม่ได้”
เหตุการณ์ในศรีลังกาครั้งนี้แอนโทนี บลิงเคน(Antony Blinken)รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯอ้างว่า “การรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน”มีส่วนทำให้เกิดความไม่สงบ”
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียระบุว่า”มีบางประเทศพยายามใช้ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในแนวทางร้ายๆ กล่าวหามอสโกว์ สำหรับบางสิ่งที่รัสเซียไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยและฟอกขาวให้ยูเครน”