ฮือฮาสมกับเป็นฮุนเซน เมื่อกัมพูชาเชิญ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปีในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เป็น การตัดสินใจที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจก่อความกังวลแก่สหรัฐและพันธมิตรอย่างควอดและออคัส รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศซึ่งมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับแนวทางคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณีปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน สำหรับเรื่องมารยาทคงไม่กระเทือนเพราะ ญี่ปุ่นและสหรัฐเคยจัดประชุมนอกรอบทั้งเรื่องคว่ำบาตรรัสเซีย และต่อต้านจีนมาแล้ว ฮุนเซนยังเปิดทางให้
วันที่ ๘ ก.ค. ๒๕๖๕ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ที่กัมพูชา ระหว่างการแถลงสรุปกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศเมื่อวันพุธที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา เปิดเผยว่าเขาเชิญให้รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมอาเซียน ว่าด้วยว่าความมั่นคงของเอเชียและแปซิฟิก และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คำแถลงของ ปรัก สุคน ระบุต่อว่า กัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ยังได้เชิญพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย แม้จะในฐานะตัวแทนที่ไม่มีนัยทางการเมือง (non-political representative) ทั้งนี้ ปรัก สุคน เพิ่งเดินทางเยือนพม่าเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ดินแดนที่บรรดานายพลก่อรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนางอองซาน ซูจี ในปี 2021
กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิก ในฐานะส่วนหนึ่งของการประชุมอาเซียนว่าด้วยว่าความมั่นคงของเอเชียและแปซิฟิก หนึ่งในกรอบการทูตด้านความมั่นคงไม่กี่การประชุมที่เกาหลีเหนือเข้าร่วมด้วย ซึ่งในนั้นรวมถึงประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกรุงพนมเปญ เป็นเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมเป็นต้นไป
นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ การเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติของรัสเซียกลายเป็นประเด็นถกเถียง โดยเฉพาะสำหรับประเทศเจ้าภาพฝั่งนิยมตะวันตกบางรายที่แสดงความกังวลว่าอาจมีบางชาติบอยคอตต์การประชุมพหุภาคี
ปรัก สุคน ซึ่งควบเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอีกตำแหน่ง กล่าวว่า จนถึงวันพุธ ที่ ๖ ก.ค.ที่ผ่านมา รัสเซียยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการเข้าร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาล ระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ที่ ลาฟรอฟ จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
เมียนมาก็เป็นอีกชาติที่อยู่ในแก่นกลางของประเด็นถกเถียงเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมารายใดได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับอาเซียนเลย ต่อมาเมื่อกัมพูชาจัดประชุมกลาโหมอาเซียน ได้เชิญเมียนมาเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกในปีนี้ คาดว่าในการประชุมเดือนสิงหาคมผู้แทนเมียนมาจะได้รับเชิญเช่นกัน
บรรดาผู้นำอาเซียนเห็นพ้องในสิ่งที่เรียกว่าฉันทมติ ๕ ข้อเมื่อเดือนเมษายนปีก่อน ที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในพม่าในทันที โดย พม่า ถูกกีดกันออกจากการประชุมของกลุ่ม จนกว่ามีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามที่รับปากไว้ในข้อตกลง แต่มาปีนี้ประธานอาเซียน ได้เปิดช่องทางให้ ทางการเมียนมาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกความเก๋าเกมการเมืองโลกของฮุนเซน แม้สหรัฐและพันธมิตรจะไม่พอใจ และสื่อตะวันตกออกมาวิจารณ์กัมพูชาในทุกเรื่อง กัมพูชายังคงเดินหน้าแสดงบทบาทการนำอาเซียนออกมาจากอิทธิพลของสหรัฐ และเปิดทางให้รัสเซียและจีนมีโอกาสเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งก็ดูยุติธรรมดี เพราะจุดยืนหลักของอาเซียนคือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พร้อมเป็นมิตรกับทุกประเทศ