เดินสายเยี่ยมมิตร!รัสเซียเยือนเวียตนาม ฉลอง ๑๐ ปีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ก่อนประชุมรมว.ต่างประเทศจี ๒๐

0

ขณะที่การสู้รบในสมรภูมิยูเครนดังดำเนินอยู่อย่างดุเดือด รัสเซียมุ่งหน้าเดินสายพบปะพันธมิตรอย่างต่อเนื่องทั้งปธน.ปูตินและผู้บริหารระดับสูง  ล่าสุดรมว.ต่างประเทศรัสเซียเดินทางเยือนเวียดนามเพื่อกระชับสัมพันธ์ก่อนร่วมประชุมรมว.ต่างประเทศ จี๒๐ 

วันที่ ๖ ก.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวเวียตนามเน็ตและรอยเตอร์รายงานว่า  เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเดินทางมายังกรุงฮานอยในวันที่ ๕ ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเยือนเวียดนามระหว่าง ๕-๗ ก.ค. ก่อนมุ่งหน้าไปร่วมการประชุม จี๒๐ ที่อินโดนีเซียในปลายสัปดาห์นี้ ตามการเปิดเผยของรัฐบาลเวียดนาม

คำแถลงของรัฐบาลระบุว่า การเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียตามคำเชิญของ บุ่ย แถ่ง เซิน (Bui Thanh Son) รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม เกิดขึ้นในขณะที่สองประเทศฉลองครบรอบ ๑๐ ปีของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน

รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และบริษัทต่างๆ ของรัสเซียมีส่วนร่วมในโครงการพลังงานขนาดใหญ่ในประเทศ

สองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตและจนถึงขณะนี้ เวียดนามยังไม่ได้ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่มอสโกว์เรียกว่า ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’

ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เวียดนามยังออกเสียงคัดค้านมติปลดรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเนื่องจากสงครามดังกล่าวแต่ต่อมารัสเซียประกาศถอนตัวก่อนลงมติ

คำแถลงระบุว่า การค้าระหว่างเวียดนามและรัสเซียขยายตัว ๒๕% ในปีที่ผ่านมามีมูลค่า ๗,๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

หลังจากเยือนเวียตนามแล้ว ลาฟรอฟมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ๒๐ ประเทศ หรือจี ๒๐ ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซียในปลายสัปดาห์นี้

การมาเยือนของลาฟรอฟ ก็คงไม่ธรรมดาเป็นการเดินสายพบมิตร ท่ามกลางสถานการณ์สงครามในพื้นที่และสงครามเศรษฐกิจ ในการปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจเก่า กับพันธมิตรหลายขั้วอำนาจใหม่

ในเดือนก.ย. ๒๕๖๔ รมว.ต่างประเทศเวียดนามได้เดินทางไปทำธุรกิจที่มอสโกว์ เช่นเดียวกับประธานาธิบดีเหงียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc ใน) เดือนพ.ย.๒๕๖๔ เยือนรัสเซียประกาศว่า การสนับสนุนและการลงทุนของรัสเซียเป็นอิฐล้ำค่าที่หนุน ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนับของสองประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคง นับตั้งแต่ช่วงต้นสงครามเย็น และจนถึงปัจจุบันรัสเซียเป็นแหล่งสำคัญของยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพเวียดนาม มีรายงานว่าเวียดนามจัดหาเทคโนโลยีทางทหารประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์จากรัสเซีย

ความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงที่ใกล้ชิดนี้ สะท้อนให้เห็นในความจริงที่ว่ารัสเซียและเวียดนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทูตสูงสุดของเวียดนาม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นร่วมกับอีกสองประเทศเท่านั้น คืออินเดียและจีน

 

ปัจจัยเหล่านี้อธิบายการตัดสินใจของเวียดนามที่จะรักษาท่าทีความเป็นกลางในกรณีการเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน  แม้ว่าจะมีการยืนยันถึงความสำคัญของกฎบัตรสหประชาชาติและอำนาจอธิปไตยที่ละเมิดไม่ได้ก็ตาม 

เวียดนามเป็นหนึ่งในสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่งดออกเสียงในระหว่างการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมา อีกประเทศหนึ่งคือสปป.ลาว  เวียดนามยังลงมติคัดค้านมติในเดือนเมษายนที่จะระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 

แต่การจัดวางบทบาทที่คลุมเคลือแบบนี้ ก่อให้เกิดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว ตัวอย่างเช่น เวียดนามอาจเผชิญกับการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติต่อต้านศัตรูของอเมริกาผ่านการคว่ำบาตร ที่เรียกว่า กฎหมาย CAATSA  ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามของการคว่ำบาตรสำหรับประเทศที่มีส่วนร่วมใน “ธุรกรรมที่สำคัญกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย” แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกาได้เอื้อมมือมาสร้างส้มพันธ์กับเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และ เลือกที่จะมองข้ามความเผด็จการของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเพื่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นในการควบคุมอิทธิพลของจีน ผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก