ทิศทางสุขภาพไทย
วิกฤตควันพิษจากรถยนต์
กับมติอนุญาตนำเข้าเสรีแทรกเตอร์มือสอง
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ความนำ
องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อมกราคม ค.ศ. 2019[1] ว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลกกำลังสูดอากาศที่มีความปนเปื้อนสูง มลภาวะในอากาศได้คร่าชีวิตประชากรโลกปีละ 7 ล้านคน พบว่า 24% ของอุบัติเหตุเส้นเลือดสมอง สัมพันธ์สืบเนื่องจากมลภาวะอากาศ นับจำนวนตายได้ 1.4 ล้านคนในทุกปี สำหรับโรคหัวใจ 25% ของการตายด้วยโรคหัวใจมีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับมลภาวะอากาศ โรคนี้คร่าชีวิตไป 2.4 ล้านคนในทุกๆปี ส่วนโรคปอดนั้น 43% ของโรคปอดและมะเร็งปอดสัมพันธ์สืบเนื่องจากมลภาวะอากาศ ก่อให้เกิดการตาย 1.8 ล้านคนในทุกๆปีเช่นกัน มลภาวะอากาศยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ชักนำโรคไม่ติดเชื้อต่างๆตามมา ปัจจุบันประชากรในเมือง 80% ของโลกกำลังดำรงชีพอยู่ท่ามกลางมลภาวะอากาศทั้งนอกบ้านและในบ้านที่สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัย โลกกำหนดไว้ โดยประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและระดับต่ำกำลังผจญปัญหานี้มากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง
ก่อนหน้านั้นมีประกาศขององค์การอนามัยโลก[2] ระบุสาร 6 ชนิดเป็นมลภาวะในอากาศได้แก่ มลพิษฝุ่นละออง (particle pollution), ระดับโอโซน (ozone, O3), คาร์บอนมอนนอกไซด์ (carbon monoxide, CO), ซัลเฟอร์ออกไซด์ (sulfur oxides, SO), ไนโตรเจนออกไซด์ (nitrogen oxides) และตะกั่ว
Polivka 2018[3] ได้ทบทวนกรณีมลภาวะหมอกควันในอากาศที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ.1952 (The Great London Smog of 1952) ซึ่งเกิดเป็นระยะเวลา 5 วันในเดือนธันวาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน สาเหตุเนื่องจากในปีนั้นชาวลอนดอนมีการใช้ถ่านหินที่มีกำมะถันเป็นจำนวนมากจนทำให้เถ้าถ่านคละคลุ้งไปทั่วท้องฟ้า เป็นผลให้มีผู้เจ็บป่วยทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง เพิ่มอัตราเด็กป่วยด้วยหอบหืดทั้งในกลุ่มที่รับสัมผัสมลภาวะ ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดาและระหว่างขวบปีแรก จากเหตุนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความตื่นตัวเรื่องมลภาวะในอากาศ จนเกิดปฏิญญาอากาศสะอาดสหรัฐฯ (U.S. Clean Air Act) ปัจจุบันกรุงลอนดอนได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก โดยมีกรุงเทพมหานครฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับสอง แต่กรุงเทพฯกำลังผจญพิษฝุ่นละเอียด (PM2.5)
ในปี ค.ศ. 2011 Fann et al. 2012[4] ได้ศึกษาผลของ PM2.5 และ O3 ต่อสุขภาพของประชากรในสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.2005 พบมีจำนวนการตายที่เกี่ยวข้องกับPM2.5ถึง130,000 คน และมีจำนวนตาย 4,700 คนที่เกี่ยวข้องกับ O3 การตายในกลุ่มคนที่อายุในระหว่าง 65-99 ปี สามารถคำนวณได้ว่าผู้คนเหล่านี้ต้องสูญเสียจำนวนปีของชีวิตไป 1.1 ล้านปีชิวิต (life year) ด้วยสาเหตุจาก PM2.5 และสูญเสียไป 36,000 ปีชีวิต ไปกับ O3
สำหรับประเทศไทยปัญหามลภาวะในอากาศปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลในปลายสัปดาห์แรก ของเดือนมกราคม 2562 ต่อเนื่องมาจนสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ[5] ได้เขียนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า “สภาพอากาศของกรุงเทพฯตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าย่ำแย่และอยู่ในขั้นวิกฤต หลังมีการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) พบว่า ค่าฝุ่นละเอียดPM2.5ในเมืองหลวงของไทยเกินระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ดัชนีคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯจาก The World Air Quality Index ที่สถานีตรวจอากาศต่างๆจะพบว่า:พื้นที่การเคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณบ้านพักกรมอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ สมุทรปราการ แขวงการทางสมุทรสาคร สถานีกรมอุตุนิยมวิทยาลำปาง มีตัวเลข 197, 167, 186, 174, 170 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับเกณฑ์สีแดง 151-200 มคก./ลบ.ม. (Unhealthy)
ผลกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช[6] รายงานคำชี้แจงของนพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ว่า “รายงานจากโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพฯมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น จากเดือนธันวาคมที่ผ่านมานับหมื่นคน จากสถิติผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1-22 มกราคม ที่ผ่านมาพบตัวเลขของผู้ป่วยจำนวน 9,980 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมของปี 2561 ที่มีจำนวน 6,445 คนถึง 54.85% เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง”
ฝุ่นละอองมีส่วนประกอบหลัก คือ โลหะหนัก คาร์บอน ซัลเฟต ไนเตรท แอมโมเนีย และ อิออนต่างๆมลภาวะในรูปแก๊สเช่น O3, CO, NO, SO2, เมื่อจับรวมกับฝุ่นละอองก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพของมนุษย์ ฝุ่นทั้งชนิดหยาบ (course PM, PM2.5-10) ชนิดละเอียด (fine PM, PM2.5) และ ชนิดละเอียดมาก (ultrafine PM, PM0.1) มีปฏิกิริยาโดยตรงต่อร่างกาย แม้ได้รับสัมผัสในปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน (US national standards) ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างสำคัญ
ผลต่อโรคหัวใจและทางเดินหายใจ
การได้รับสัมผัสฝุ่น PM แม้ในช่วงเวลาสั้นๆสามารถทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดและตายได้ จากการวิเคราะห์อภิมานของงานวิจัยในปี2013 พบว่าการตายจากโรค หัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น11% มีความสัมพันธ์กับการรับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาว[7,8] โดยเฉพาะจากโรคหลอดเลือดโคโรนารี
การได้รับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน[7] ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว[8] ภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันเลือดสูงและภาวะหัวใจล้มเหลว การได้รับสัมผัส PM2.5ที่เพิ่มขึ้น 10 μg/m3 แม้ในระยะสั้น (น้อยกว่า 24 ชม.) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตายได้ (0.4%-1.0%)[9] การได้รับสัมผัส PM2.5 ในระยะสั้นทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันได้[10] เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ[11] ภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
Lu et al. 2015[12] ได้ทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมานของงานวิจัยระหว่าง ปีค.ศ.1999-2013 ที่ทำในจีน ฮ่องกง และไต้หวันว่าด้วยผลของ PM2.5 และ PM10 ที่มีต่อสุขภาพของคนจีน พบว่าการรับสัมผัสฝุ่นPM2.5 และ ฝุ่นPM10 ในระยะสั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการตาย โดยทุกๆ 10 μg/m3 ของปริมาณ PM10 ที่เพิ่มขึ้น พบว่าค่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (excess risk) ต่อการตายที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ จากโรคหัวใจและหลอดเลือด และจากโรคทางเดินหายใจ Zhang et al. 2017[13] ศึกษาผลจากการรับสัมผัสมลภาวะระยะสั้น ต่อการตายของประชากรในเมืองจิหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างปีค.ศ. 2011-2015 มีประชากรเสียชีวิต 209,321 คน พบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้นของ PM10, PM2.5, SO2 และ NO2 เพิ่มอัตราตาย 5.87%
ผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง[14, 15]
Hamra et al. 2014[16] ได้ทบทวนอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมานความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 และ PM10 กับอัตราป่วยและอัตราตายของมะเร็งปอด พบว่าการเกิดมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma มีความสัมพันธ์กับการรับสัมผัส PM2.5 และ PM10 นอกจากมะเร็งปอดแล้ว PM2.5 ยังสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดอื่นๆด้วยเช่นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ Yeh et al. 2017[17] ศึกษาความสัมพันธ์ของ PM2.5 กับอัตราตายด้วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในประชากรไต้หวันเป็นเวลา 13ปี พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งในผู้ชายของไต้หวันภาคเหนือ และผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมือง
ผลต่อตับ
Tarantino et al. 2013[18] ได้ศึกษาผลงานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่าการได้รับสัมผัสฝุ่นละเอียด PM2.5 ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non alcoholic fatty liver disease, NAFLD) ได้ ฝุ่นควันจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซล (Diesel exhaust particles, DFP) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างอนุมูลอิสระออกซิเจน (reactive oxygen species) เร่งการทำลายเนื้อเยื่อหรืออวัยวะได้ มีการศึกษาที่แสดงผลโดยตรงฝุ่นเผาไหม้ของดีเซลทำให้ตับอักเสบและทำลาย DNA ของตับหนู[19]
กลไกการเกิดโรคหัวใจจาก PM2.5
การรับสัมผัส PM2.5ในระยะยาวเพิ่มสารแสบเส้นเลือด (homocysteine-Hcy) การตายด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันมีหลักฐานมากขึ้นที่พิสูจน์ความสัมพันธ์กับระดับสารแสบเส้นเลือด สารนี้เป็นสารอันตรายต่อหลอดเลือดและกล้ามเนื้อเรียบ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับภาวะหลอดเลือดแข็งตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง[20] และ การเกิดลิ่มเลือด[21] ภาวะที่มีระดับโฮโมซิสเตอีนสูงในเลือด มีความเกี่ยวข้องที่สำคัญกับโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือด[22]
ในประเทศไทยงานวิจัยของบรรจบ ชุณหสวัสดิกุลและคณะ[23] พบว่า ผู้บริหารระดับกลางที่ทำงานสำนักงานในกรุงเทพฯอายุระหว่าง 21-60 ปีจำนวน 35 คนมีภาวะไขมันเลือดผิดปกติ 27.03% แต่มีภาวะโฮโมซิสเตอีนสูง 54.05% ของประชากรที่สำรวจ ส่วนผู้บริหารระดับกลางในสำนักงานโรงงานปรับปรุงข้าวซึ่งมีฝุ่นละอองในอากาศจำนวนมากที่จ.ฉะเชิงเทรา อายุระหว่าง 31-50 ปีจำนวน 25 คนมีภาวะไขมันเลือดผิดปกติ 20% แต่มีภาวะโฮโมซิสเตอีนสูง 84% ของประชากรที่สำรวจ งานวิจัยดังกล่าวแสดงถึงความหนักหน่วงของปัญหาว่า คนไทยมีโอกาสเสี่ยงกับโรคหัวใจกำเริบจากภาวะสารโฮโมซิสเตอีนสูงมากกว่าภาวะไขมันเลือดสูงหลายเท่าตัวทั้งในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่กลางเมืองหลวง และปัญหาจะยิ่งหนักมากในกลุ่มประชากรที่มีอาชีพหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง และเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้นที่กำลังถูกมองข้าม
เรื่องนี้จะสอดคล้องหรือไม่ กับการมีอุบัติการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉียบพลันของบุคคลผู้มีชื่อเสียงรายแล้วรายเล่าในระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงหมีแพนด้าเพศผู้ซึ่งเลี้ยงอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ก็มีอันตายเฉียบพลันและคณะสัตว์แพทย์จีน-ไทยวินิจฉัยสาเหตุการตายด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
แหล่งของฝุ่นมลภาวะในอากาศ
ในประเทศไทยแหล่งของ PM2.5 ทั่วประเทศที่สำคัญๆได้แก่ 1)การเผาในที่โล่ง ปลอ่ย PM2.5 ประมาณ 209,937 ตัน/ปี 2)การคมนาคมขนส่ง ยานพาหนะปล่อย PM2.5ประมาณ 50,240 ตัน/ปี 3)การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5ประมาณ 31,793ตัน/ปี 4)อุตสาหกรรม ปล่อย PM2.5ประมาณ 65,140 ตัน/ปี นอกจากนี้การรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ จากปัจจัยอากาศหนาวเย็นและความชื้นในบรรยากาศอาจทำให้ฝุ่นละอองสะสมและมีปริมาณมากขึ้น
ผลการศึกษาถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในกทม.พบว่าร้อยละ 40มีที่มาจากรถยนต์ที่ใช้อยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันดำจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ดังนั้นมาตรการห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานก็จะเป็นแนวทางหนึ่ง
ควันดำที่เกิดจากรถยนต์นั้นมาจาก 1)ระบบจ่ายน้ำมันไม่เหมาะสม 2)ไส้กรองอากาศสกปรกเกิดการอุดตัน 3)เครื่องยนต์เก่า ชำรุด ขาดการบำรุงรักษา 4)บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนด 5)ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ได้มาตรฐาน
มาตรการของรัฐบาล
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5แพร่ระบาดในกทม.และจังหวังภาคเหนือตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลต่อเรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นกระบวนการตั้งรับแทบทั้งสิ้น เช่น: การตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยจาก PM2.5ที่เข้ารักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ การแจกหน้ากากป้องกันฝุ่น การฉีดพ่นละอองน้ำในที่สาธารณะ การทำฝนหลวง การระดมดับไฟที่ลุกไหม้ขึ้นในป่าภาคเหนือทั้งจากความร้อนของธรรมชาติและความตั้งใจของมนุษย์ การตรวจรถเมล์ควันดำที่กระทำอยู่เพียงไม่กี่วันในจังหวะที่มีฝุ่นพิษในกทม. เป็นต้น
มาตรการต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดดังกล่าว ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามมีอยู่มาตรการเดียวที่รัฐบาลมีการกระทำในเชิงรุกและมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหามลภาวะในอากาศสำหรับประเทศไทย นั่นคือ ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ประกาศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 โดยมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้โดยระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อป้องกันปัญหามลพิษสร้างความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้ถนน และการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุม โดยได้ย้ำด้วยว่าเป็นการบริหารงานที่สอดคล้องกับมติครม.ที่กำหนดให้การแก้ปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ
นส.ชุติมา บุณยประภัศร รมต.พาณิชย์เปิดเผยด้วยว่า “การนำเข้ารถยนต์มือสองอยู่ภายใต้การควบคุมกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2496 มี 9 ประเภท ซึ่งระเบียบที่แก้ไขใหม่จะห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วเพื่อเฉพาะตัวหรือรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนใหญ่เป็นรถหรู ขณะที่รถอื่นอีก 8 ประเภทจะถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่นอนุญาตการนำเข้า” แสดงว่ามาตรการดังกล่าวส่วนที่จะเกิดประโยชน์ในการช่วยควบคุมมลภาวะ จะได้แก่กลุ่มรถบรรทุกและรถแทรกเตอร์เท่านั้น
ภายหลังจากประกาศดังกล่าว เกิดมีความเคลื่อนไหวใน 2 ด้านคือ:
1)กลุ่มผู้นำเข้ารถเก๋งและรถบรรทุกเก่าซึ่งระแคะระคายเรื่องนี้แห่กันนำเข้ารถมือสองภายใน 7 เดือนยอดพุ่งถึง 7,000 ล้านบาท
2)กลุ่มผู้นำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองและกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็ออกมาเรียกร้องให้พิจารณาทบทวน โดยอ้างเหตุผลว่า การห้ามนำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 500,000 คน และผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสองไม่ต่ำกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจถึงกับต้องปิดกิจการลง
นายบุญช่วย ศรีเดช ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “การห้ามรถแทรกเตอร์มือสองทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น” นส.พัชรินทร์ ชำนาญจักร์ตัวแทนผู้ประกอบการรถแทรกเตอร์มือสองเรียกร้องว่าที่ผ่านมา ผู้มีส่วนได้เสียไม่มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ ทั้งนี้ตัวแทนจำนวน 100 คนได้เดินทางไปกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เพื่อยื่นข้อเสนอ จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิสิษฐ์ ซึ่งรับปากว่าให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาทบทวนประกาศฉบับนี้
สุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมครม.ให้ประเทศไทยสามารถนำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองได้อย่างเสรี ทั้งนี้ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมว่า รถแทรกเตอร์มือสองมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยเพราะใช้ปีละไม่กี่วัน การเปิดนำเข้าเสรีช่วยลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มทางเลือกในการซื้อเครื่องจักรกลทางเกษตร และส่งเสริมให้เกิดอาชีพช่างในชุมชนด้วย
รายนามประเทศกับมาตรการห้ามนำเข้ารถมือสอง
จากบทความ What countries have import restriction on used car import, K International transport company ตีพิมพ์ในนิวยอร์คไทม์ กค. 27, 2012 เผยว่า:
1.โบลิเวีย รถใช้แล้วห้ามนำเข้าเด็ดขาด
2.จีน นำเข้าได้แต่รถใหม่เท่านั้น และสำหรับเซี่ยงไฮ้ผู้นำเข้าจะต้องมีเคยมีใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์แล้วเท่านั้น
3.อียิปต์ (ดาเมียลตาและอเล็กซานเดรีย) รถใหม่เท่านั้น (ปอร์ดเซด)รถใช้ไม่เกิน 1 ปี รถอายุเกิน 10 ปีห้ามนำมาแล่นบนถนน
4.ไฮติ ห้ามรถยนต์ทุกชนิด
5.อิรัก ห้ามรถอายุเกิน 2 ปี
6.คูเวต ห้ามรถอายุเกิน 5 ปี คนแต่ละคนห้ามนำเข้ารถยนต์เกิน 1 คัน ถ้านำเข้ามากกว่า 1 คัน ต้องเป็นในนามของบริษัท
7.ลิเบีย (บังกาซี มิซูราลาและเอลคอมส์) ห้ามใช้พาหนะทุกชนิดอายุเกิน 5 ปี (รถ พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ มอเตอร์ไซด์ เรือสกี)
8.เลบานอน ห้ามรถอายุเกิน 8 ปี รถบรรทุกใช้นำมันได้ แต่ถ้าใช้ดีเซลห้ามใช้เกิน 5 ปี และบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 3.5 ตัน
9.ปากีสถาน ห้ามรถอายุเกิน 3 ปี แต่ถ้ามีใบเขียนว่าส่งไปแอฟกานิสถานจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุรถ
10.ปารากวัย ห้ามรถอายุเกิน 10 ปี
11.รัสเซีย (ทากันรอก) ห้ามรถทุกชนิด
12.ซาอุดิ อาราเบีย (เจดดาห์ ดามมัน ริยาท ยัมบู) รถใช้ทั่วไป รถประจำทาง รถบรรทุกเล็กต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี รถบรรทุกขนาดใหญ่อายุต้องไม่เกิน 10 ปี ขณะเดียวกันรถแท็กซีและรถตำรวจห้ามใช้รถที่ชำรุด มีตำหนิ เสื่อมสภาพมาใช้ในกิจการเด็ดขาด
13.ซีเรีย ห้ามรถทุกชนิด
14.ตูนิเซีย (ตูนิสและสแต็ก) ห้ามรถทุกชนิด นอกจากรถที่ใช้ทางการทูต
15.เยเมน ห้ามรถอายุเกิน 7 ปี และห้ามใช้รถที่ชำรุดเด็ดขาด
เอกสาร Used vehicle Global Overview ของ Unece แห่งสหประชาชาติ[24]เปิดเผยว่า :
การห้ามนำเข้ารถใช้แล้ว บางประเทศได้สั่งห้ามนำเข้ารถใช้แล้วเด็ดขาด ได้แก่ อินโดนีเซีย ชิลี ตุรกี แอฟริกาใต้ อีกบางประเทศใช้การควบคุมด้านเทคโนโลยี เช่นศรีลังกานำมาอันดับต้นๆในเครื่องยนต์ไฮบริด การตั้งภาษีอย่างเข้มงวดรุนแรงและลดภาษีให้กับเครื่องไฮบริดและเครื่องยนต์ไฟฟ้าเกิดผลในกรณีนี้ ยูเครนห้ามนำเข้ารถที่ให้พลังงานต่ำกว่าระดับยูโร 3 อีมิสชั่นสแตนดาร์ดตั้งแต่ 2013
จำกัดที่อายุ บางประเทศใช้การควบคุมที่อายุของรถ เคนยากำหนดอายุรถไม่ให้เกิน 8 ปี และถือที่ระดับยูโร 4 อีมิสชั่นสแตนดาร์ด การกำหนดอายุของรถเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญของประเทศฝ่ายนำเข้า
ควบคุมด้วยภาษี ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกใช้วิธีนี้เช่น มอลโดวาเพิ่มภาษีกับรถเกิน 3 ปีและห้ามนำเข้ารถอายุเกิน 10 ปี
การตรวจสภาพ การตรวจสภาพรถอย่างเข้มงวดถูกนำมาใช้ประกอบ แซมเบียไม่ได้กำหนดอายุรถแต่จะตรวจสภาพรถอย่างเข้มงวดมากก่อนส่งออกมาจากญี่ปุ่น รวมทั้งจากสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอะมิเรตและแอฟริกาใต้
เอกสารกล่าวว่าขณะนี้ทั่วโลกเหลือเพียง โบลิเวีย เปรู และปารากวัยเท่านั้นที่อนุญาตการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว แต่ก็ยังมีเงื่อนไขเรื่องอายุของเครื่องยนต์
สำหรับประเทศไทย น่าจะกลายเป็นประเทศที่ตกสำรวจขององค์การสหประชาชาติ เพราะนอกจากยอมให้นำเข้ารถแทรกเตอร์ใช้แล้ว ยังเป็นการนำเข้าโดยเสรีอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- World Health Organization. Air pollution and Health: Summary World Health Organization. 2019; Jan 24. Available from https://www.who.int/airpollution/en/.
- Ghorani-Azam A, Riahi-Zanjani B, Balali-Mood M. Effects of air pollution on human health and practical measures for prevention in Iran. J Res Med Sci. 2016; 21: 65-75.
- Polivka BJ. The Great London Smog of 1952. Am. J. Nurs. 2018; 118(4): 57-61.
- Fann N, Lamson AD, Anenberg SC, Wesson K, Risley D,Hubell BJ. Estimating the National Public Health Burden associated with exposure to ambient PM2.5 and Ozone. Risk Analysis. 2012; 32 (1): 81-95.
- Manochanpen, Narongkorn., How was the situation of PM2.5 in Bangkok comparing to other city in the world? The standard, stand up for the people, 08.02.2018. https://thestandard.co/global-pm25-air-pollution/
6. Watcharasakvej, Wilalan., Bangkok Metropolitan disclosed that there were nearly ten thousands of air polluted sickness patients in January, 54% more than the previous month., Khaojing 2019-1-25 https:/www.benarnews.org/thai/news/TH-air-pollution-01252019161738.html
- Cesaroni G, Forastiere F, Stafoggia M, Andersen ZJ, Badaloni C, Beelen R, et al. Long term exposure to ambient air pollution and incidence of acute coronary events: prospective cohort study and meta-analysis in 11 European cohorts from the ESCAPE Project. BMJ 2014; 348:f7412.
- Hoek G, Krishnan RM, Beelen R, Peters A, Ostro B, Brunekreef B, et al. Long-term air pollution exposure and cardio respiratory mortality:a review. Environ Health 2013;12(1):43- 58.
- Pope III CA, Dockery DW. Health effects of fine particulate air pollution : lines that connect. J Air Waste Manag Assoc 2006; 56:709-42.
- Peters A, Dockery DW, Muller JE, Mittleman MA. Increased particulate air pollution and the triggering of myocardialinfarction. Circulation 2001;103:2810-2815.
- Nowrot TS, Perez L, Kunzli N, Mnstr E, Nemery B. Public health importance of trigger of myocardial infarction: acomparative risk,assessment. Lancet 2011; 377:732-40.
- Lu F, Xu D, Cheng Y, Dong S, Guo C, Jiang X, et al. Systematic review and meta-analysis of the adverse health effects of ambient PM2.5 and PM10 pollution in the Chinese population. Environ Res. 2015; 136:196-204
- Zhang J, Liu Y, Cui LL, Liu SQ, Yin XX, Li HC. Ambient Air Pollution, Smog Episodes and Mortality in Junan, China. Sci Rep. 2017; 7(1): 11209-17.
- Pope III CA, Burnett RT, Thun MJ, Calle EE, Krewski D, Ito K et al. Lung cancer, cardiopulmonary mortality, and long-term exposure to fine particulate air pollution. JAMA. 2002; 287(9):1132–41.
- Laden F, Schwartz J, Speizer FE and Dockery DW. Reduction in fine particulate air pollution and mortality:extended follow-up of the Harvard six cities study. Am J Respir Crit Care Med. 2006; 173:667–72.
- Hamra GB, Guha N, Cohen A, Laden F, Raaschou-Nielsen O, Samet JM, et al. Outdoor particulate matter exposure and lung cancer: a systemic review and meta-analysis. Environmental Health Perspectives. 2014; 122(9) 906-11.
- Yeh HL, Hsu SW, Chang YC, Chan TC, Tsou HC, Chang YC, et al., Spatial analysis of ambient PM2.5 exposure and bladder cancer mortality in Taiwan. Int. J. Environ. Res. Public Health. 2017; 14(5), 508-22.
- Tarantino G, Capone D, Finelli C. Exposure to ambient air particulate matter and non-alcoholic fatty liver disease. World J Gastroenterol. 2013; 19(25):3951-6.
- Folkman JK, Risom L, Hansen CS, Loft S, Moller P. Oxidatively damaged DNA and inflammation in the liver of dilipidemic ApoE-/-mice exposed to diesel exhaust particles. Toxicology. 2007; 237:134-44.
- Ganguly P and Alam SF. Role of homocysteine in the development of cardiovascular disease, Nutr J. 2015; 14:6-16.
- Park SK, O’Neill MS, Vokonas PS, Sparrow D, Spiro III A Tucker KL et al. Traffic-related particles are associated with elevated homocysteine – the VA Normative Aging Study. Am J Respir Crit Care Med. 2008; 178:283–9.
- Baszczuk A, Kopczynski Z. Hyperhomocysteinemia in patients with cardiovascular disease Postepy Hig Med Dosw (online). 2014; 68:579-89.
- Junhasavasdikul, Banchob., Goto, Sumio., Krobthong, Amporn., Wanikiat, Payong., Sarachuitti, Rangsit., Chaiyasit, Kamon., Prevalence and comparison of high homocysteine level and dyslipedemia in office personals of a rice exporting company, Proceeding of international conference on integrative medicine, Bangkok, Thailand, June, 6-7, 2019.
- UNEP-ITC_Background_Paper-Used_Vehicle_Global_OverviewType.