ตบหน้าสหรัฐ!?จีนเปิดใช้ทางม้าเหล็กฝ่าทะเลทรายในซินเจียง ผุดทางรถไฟวนรอบทะเลทราย สายแรกของโลก

0

ซินเจียงเป็นมณฑลของจีนทึ่ถูกสหรัฐโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านจีนอย่างต่อเนื่องกล่าวหาว่าจีนกดขึ่ข่มเหงชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการบังคับใช้แรงงานทารุณ และรณรงค์ทั่วโลกต่อต้านฝ้ายที่ผลิตจากที่นี่  ล่าสุดผู้แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เดินทางมาเยือน และรายงานข้อเท็จจริงต่อสหประชาชาติก็ไม่ได้มีประเด็นอย่างที่สหรัฐกล่าวหา ซ้ำล่าสุดจีนประกาศเปิดทางรถไฟวนสายแรกในโลก ในเขตซินเจียง ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อทะลุไปยังสายจีน-คีร์กิสถาน-อุสเบกิสถาน เท่ากับต่อจิ๊กซอเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งจากจีนไปสู่ยุโรปและตะวันออกกลางได้อย่างมีนัยสำคัญ จีนนอกจากตอบโต้ทางการทูตสวนทางสหรัฐในกรณีซินเจียงมาโดยตลอด ยังโชว์ให้เห็นการพัฒนาและความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมของซินเจียงอย่างไม่หยุดยั้ง

วันที่ ๒๗ มิ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวของจีนทั้งซินหัว โกลบัลไทมส์และซีจีทีเอนรายง่านว่า รถไฟเหอเถียน-รั่วเชียง (Hotan-Ruoqiang) เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๖ มิ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของโลกในทะเลทราย ทางรถไฟนี้มีระยะทาง ๘๒๕ กิโลเมตรจากเมืองเหอเถียน (Hotan)  ทอดยาวไปทางตะวันตกไปยังเขตรั่วเชียง(Ruoqiang) ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ (Xinjiang -Uygur) 

การเปิดเส้นทางรถไฟความยาว ๘๒๕ กิโลเมตรสายนี้ทำให้จีนบรรลุภารกิจที่ฝันใฝ่ในการสร้าง ‘ทางรถไฟวน’ ที่มีความยาวถึง ๒,๗๑๒ กิโลเมตร รอบทะเลททรายทากลามากัน และยังได้พิชิตการเป็นผู้นำผู้สร้างทางรถไฟวนรอบทะเลทรายสายแรกของโลกด้วย

บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด (China State Railway Group) แถลงการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายเหอเถียน-รั่วเชียง ซึ่งเชื่อมระหว่างระหว่างเมืองเหอเถียน (หรือโฮทัน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ และเมืองรั่วเชียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลซินเจียง

การเดินทางบนเส้นทางสายนี้ใช้เวลาเพียง ๑๑ ชั่วโมงครึ่ง สำหรับรถไฟที่จัดมาให้วิ่งในเส้นทางรถไฟทะเลทรายสายนี้มีอัตราเร็ว ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งผ่าน ๒๒ สถานี โดยรางรถไฟสามารถปรับมาใช้ระบบไฟฟ้าในอนาคต

เส้นทางรถไฟสายเหอเถียน-รั่วเชียงนี้มีความยาว๘๒๗ กิโลเมตร โดยร้อยละ ๖๕ ของเส้นทางรถไฟซึ่งคิดเป็นระยะทาง ๕๓๔ กิโลเมตรนั้นตั้งอยู่ภายในพื้นที่ทะเลทรายทากลามากัน ซึ่งเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่สุดของจีน และใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก โดยมีขนาดเล็กกว่าทะเลทรายในประเทศเยอรมนีเพียงเล็กน้อย

จีนเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟทะเลทรายสายเหอเถียน-รั่วเชียงนี้ในเดือนธันวาคมปี ๒๐๑๘ รวมเวลา ๓ ปีในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยนับเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟสุดหินมฤตยู เนื่องจากการก่อสร้างต้องเผชิญอุปสรรคอันตรายใหญ่คือลม และพายุทราย

จีนได้คิดนวัตกรรมรับมือกับทรายที่เรียกว่า ‘ตารางหมากรุก’ ซึ่งเป็นแนวสกัดกั้นทรายรูปตารางหมากรุกขนาดมหึมา ก่อนหน้านี้บริษัท การรถไฟซินเจียง เหอเถียน-รั่วเชียง เรลเวย์ เผยว่า ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟมีการปูหญ้าเป็นแนวตารางรวม ๕๐ ล้านตารางเมตร รวมถึงเพาะปลูกไม้พุ่มและกล้าไม้ ๑๓ ล้านต้น ตามแนวทางรถไฟคิดเป็นระยะ ๓๐๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดพายุทรายมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังสร้างสะพาน ๕ แห่ง ที่มีความยาวรวมกัน ๔๙.๗ กิโลเมตร โดยขณะที่รถไฟแล่นไปบนสะพานรถไฟพายุทรายก็พัดผ่านใต้สะพาน

ปฏิบัติการเส้นทางรถไฟสายเหอเถียน-รั่วเชียง ถือเป็น “จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย” ที่ผนึกรวมเข้ากับเส้นทางรถไฟสามสายรอบทะเลทรายที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลายเป็น ‘ทางรถไฟวน’ (railway loop) รอบทะเลทรายสายแรกของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ คือเส้นทางสายไหม

เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมทางรถไฟในเขตชายแดนภาคตะวันตกของจีน อีกทั้งอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่งสินค้า ช่วยส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ส่งเสริมเศรษฐกิจ ปกป้องชาติ ในพื้นที่ชนบทในจีน

“ขบวนรถไฟที่วิ่งบนเส้นทางรถไฟทะเลทรายนี้มีอัตราเร็วที่ค่อนข้างต่ำจึงสามารถรองรับขบวนรถไฟผู้โดยสาร และขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจในซินเจียงอย่างมาก”

ซุน จ้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งมวลชน และอาจารย์ประจำมหาวิทยาถงจี เซี่ยงไฮ้ บอกกับผู้สื่อข่าว โกลบอล ไทม์ เมื่อวันพุธที่ ๑๕ มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “โครงการก่อสร้างทางรถไฟซีเคยู ระหว่าง จีน-คีร์กิซสถาน-อุซเบกิสถาน (China-Kyrgyzstan-Uzbekistan /CKU) กำลังจะเริ่มก่อสร้างแล้ว หลังจากที่ล่าช้ามาหลายปี เส้นทางรถไฟวนจะเชื่อมโยงทุกภาคของซินเจียง และจะช่วยการไหลเวียนสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” 

เส้นทางรถไฟสาย CKU จะเป็นเส้นทางรถไฟที่ทรงศัยกภาพโดยเป็นเส้นทางสั้นที่สุดสำหรับการขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปและตะวันออกกลาง ตัดลดการเดินทางลงถึง ๙๐๐ กิโลเมตร และประหยัดเวลาในการเดินทางได้ ๗-๘ วัน

จากข้อมูลที่สรุปเมื่อปลายปี ๒๐๒๑ ระบุเส้นทางรถไฟที่เปิดบริการทั่วประเทศจีน มีความยาวมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ กิโลเมตร รวมทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ที่มีความยาวรวมกันกว่า ๔๐,๐๐๐ กิโลเมตร สะท้อนความก้าวหน้าในด้านคมนาคมขนส่งทางรางของจีนอย่างน่าทึ่ง