แตกเป็นเสี่ยง!!ประท้วงเดือดนับหมื่นทั่วสหรัฐ ตกงาน-ห้ามทำแท้ง-ควบคุมปืน มะกันสุดทนผู้นำจุ้นแต่ยูเครน

0

สหรัฐกำลังเผชิญความปั่นป่วนระส่ำระสายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ผู้นำเดินสายกล่อมพันธมิตร ก่อหวอดต่อต้านรัสเซีย-จีนอย่างเอาการเอางาน ปัญหาที่หมักหมมในบ้านเริ่มปะทุพร้อมๆกัน ทั้งปัญหาความรุนแรงจากปืนที่ไม่สามารถออกกฎหมายควบคุมได้ ปัญหาด้านแรงงานเรื่องค่าแรง-ตกงาน และล่าสุดที่ดูจะส่อเค้าจลาจลแน่คือ การที่ศาลตีตกกฎหมายทำแท้งเสรี ก่อความไม่พอใจในสังคมอเมริกันอย่างหนักเพราะถือว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพบุคคลอย่างร้ายแรง หลายเมืองผู้ประท้วงปะทะตำรวจดุเดือด

วันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวรอยเตอร์และรัสเซียทูเดย์รายงานว่า ศาลสูงสุดสหรัฐฯ คว่ำคำพิพากษารับรอง ‘สิทธิการทำแท้ง’

เรื่องนี้เกิดจาก การที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำพิพากษาคว่ำคำตัดสินคดีโรว์ วีเวด( Roe v. Wadeฏ) ที่เกิดขึ้นในปี ๑๙๗๓ ซึ่งรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้หญิงในการทำแท้ง และส่งผลเป็นมาตรฐานในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทำแท้ง

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้ประกอบด้วยองค์คณะที่เป็นผู้พิพากษาที่อนุรักษนิยมเป็นส่วนใหญ่ มีคำวินิจฉัย ๖ ต่อ ๓ เสียง ยืนกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปีที่ห้ามการทำแท้งหลังจากตั้งครรภ์เกิน ๑๕ สัปดาห์ และ ๕ ต่อ ๔ เสียงให้กลับคำพิพากษาในคดี Roe v. Wade โดยมีผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม ๑ คน คือ “จอห์น โรเบิร์ตส” เลือกที่จะสนับสนุนกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปี โดยไม่จำเป็นต้องคว่ำคำตัดสินในคดี Roe

 

คำตัดสินครั้งนี้ได้ก่อแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างรุนแรง และจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมของศาลสูงสุดซึ่งควรจะเป็นหลักให้แก่ระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน แต่กลับมีคำวินิจฉัยเอียงเองไปในทางอนุรักษนิยมสุดขั้วมาแล้วหลายคดี

คำพิพากษานี้จะส่งผลให้รัฐต่างๆ ทั่วอเมริกามีอำนาจออกกฎเกี่ยวกับการทำแท้งได้เอง และนั่นหมายความว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอาจต้องเดินทางไปยังรัฐอื่นๆ ซึ่งอนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ซื้อยาขับเลือดทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งพึ่งคลินิกทำแท้งเถื่อนซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง

เวลานี้มีอยู่ ๒๖ รัฐในอเมริกาที่ประกาศจุดยืนว่าพร้อมจะออกกฎห้ามการทำแท้งหรือกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขณะที่มิสซิสซิปปีเป็นหนึ่งใน ๑๓ รัฐที่กฎหมายห้ามทำแท้งมีผลบังคับทันทีที่คำพิพากษาในคดี Roe ถูกยกเลิก

อีกประเด็นร้อนที่กำลังคุกรุ่นและอาจปะทุในเร็ววันนี้คือ การประท้วงของคนงานใน ๓ เมืองของรัฐวิสคอนซิน

พนักงานประมาณ ๑,๒๐๐  คนที่โรงงานในเบอร์ลิงตัน ไอโอวา และในเมืองราซีน รัฐวิสคอนซิน ได้หยุดงานประท้วงเมื่อสัญญาฉบับสุดท้ายของพวกเขาหมดลงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และพวกเขาตกงานมาจนถึงปัจจุบัน

วุฒิสมาชิกสหรัฐ เบอร์นี แซนเดอร์ส I-Vermont แห่งพรรครีพับลิกัน เข้าพบปะผู้ชุมนุมบอกกับผู้ชุมนุมของบริษัท CNH Industrial ที่นัดหยุดงานในเบอร์ลิงตัน รัฐไอโอวา ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศแล้ว

ปัญหาคือการเพิ่มค่าจ้างไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่มีแนวโน้มจะลดลงและการเปลี่ยนแปลงการประกันสุขภาพที่ลดค่าใช้จ่ายลงทำให้ต้องรับผิดชอบส่วนต่างของค่าใช้จ่ายในขณะโรคระบาดโควิด-๑๙ ยังไม่ได้จบลงอย่างสิ้นเชิง

คนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดจะได้รับเงินเพิ่มรายชั่วโมงที่ ๑.๓๓ ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับการลดค่าจ้าง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น บริษัทยังพยายามที่จะเฉือนระยะเวลาสัญญาจ้างงานของสหภาพแรงงานจากหกปีเป็นสามปี

นิค เกิร์นเซย์(Nick Guernsey) ประธานองค์กร UAW Local ๘๐๗ ในเบอร์ลิงตันกล่าวว่าการเจรจาสัญญารอบสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ผล การชุมนุมจะยืดเยื้อและขยายผลไปอีกหลายที่

สว.แซนเดอร์สกล่าวว่าการต่อสู้เป็นสัญญาณที่ดี แต่ต้องรวมถึงคำถามด้านมนุษยธรรมต่อบริษัทที่เป็นมหาเศรษฐีด้วยเขากล่าวว่ารากเหง้าของปัญหาคือความโลภขององค์กร โดยชี้ให้เห็นว่า CNH เป็นเจ้าของโดยตระกูลแอ็คเนลลี (Agnelli) ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และบริษัททำกำไรได้ ๑.๗ พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

แซนเดอร์สกล่าวย้ำว่า“อเมริกามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” 

อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือเรื่องศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำตัดสินชี้ขาดเมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.ที่ผ่านมาเช่นกันว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะพกปืนในที่สาธารณะเพื่อป้องกันตนเอง นับเป็นคำพิพากษาประวัติศาสตร์ที่คาดว่าจะส่งผลต่อนโยบายของรัฐ และเมืองต่างๆ ในการที่จะป้องปรามเหตุกราดยิงซึ่งเกิดขึ้นแล้วเป็นร้อยๆ ครั้งในปีนี้

ปธน.โจ ไบเดน ออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาลสูงสุดในครั้งนี้ โดยระบุว่า มัน “ขัดแย้งกับสามัญสำนึกและรัฐธรรมนูญ และถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกคน”

เขากล่าวว่า “ผมขอเรียกร้องให้คนเอเมริกันทั่วประเทศออกมาแสดงจุดยืนของท่านเกี่ยวกับความปลอดภัยอาวุธปืน” เป็นคำพูดที่สะท้อนว่าผู้นำไม่สามารถแก้ปัญหานี้แม้มีอำนาจมากมาย กลับโยนกลับไปให้ประชาชนแก้ไขเอง

เหตุกราดยิงร้ายแรงที่เกิดขึ้นถึง ๒ ครั้งในเดือน พ.ค.ปลุกกระแสเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืน ทว่าศาลสูงสุดกลับมีความเห็นเข้าข้างฝ่ายโจทก์ที่อ้างว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริการับรองสิทธิของพลเมืองในการที่จะครอบครองและพกพาปืน

คำตัดสินนี้ยังถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับสมาคมไรเฟิลแก่งชาติ (National Rifle Association – NRA) กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ด้านอาวุธปืนที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลร่วมกับชายชาวนิวยอร์กอีก ๒ คนที่ถูกปฏิเสธใบอนุญาตพกปืน

๓ ประเด็นร้อนนี้กำลังกระตุ้นความโกรธเกรี้ยวในหมู่คนอเมริกันทั้งหลาย ใกล้ปะทุ แต่ดูเหมือนว่า ท่าทีของปธน.ไบเดนจะสนับสนุนให้มีการออกมาประท้วงสำหรับกรณี กฎหมายห้ามทำแท้งและ กฎหมายควบคุมปืน มั่นใจว่าจะควบคุมอยู่และได้โอกาสโจมตีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กระทบพรรครีพับลิกัน  ส่วนด้านพรรครีพับลิกันสนับสนุนกลุ่มคนงานที่กำลังประท้วงเรื่องค่าแรง และอื่นๆ  เห็นได้ชัดว่าสองพรรคใหญ่ที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการแข่งขันเลือกตั้งกลางเทอม นับวันยิ่งขับเคี่ยวกันในประเด็นต่างๆ พร้อมๆกับ ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุด  ในขณะเดียวกับที่สงครามนอกบ้านที่ยูเครนยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของผู้นำสหรัฐฯและสภาคองเกรส