เดือด!! ก.พาณิชย์ตอกกลับ ข้อเสนอใช้ม.๒๔,๒๕ คุมค่ากลั่น เข้าใจผิดหรือบิดเบือน ราคาพลังงานมีกม.เฉพาะ

0

“ปลัดพาณิชย์” โต้กรณีข้อเสนอให้กระทรวงใช้พ.ร.บ.คุมสินค้านั้นเป็นการเข้าใจผิดหรือบิดเบือน ลั่นไม่ใช่หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลค่ากลั่นน้ำมัน ชี้ เผือกร้อน มีกพช. ดูแล “นายกฯ” นั่งปธ. “สุพัฒน์พงษ์” เป็นเลขาฯ ย้อนถาม ก.พลังงานกำหนดราคาLPGทำไมราคาน้ำมันถึงโยนให้”พาณิชย์” ด้าน ‘กรมการค้าภายใน’ ชี้แจงว่า ราคาพลังงานมีกฎหมายเฉพาะ ไม่สามารถใช้กฎหมายลักษณะทั่วไปได้

วันที่ ๒๑ มิ.ย.๒๕๖๕ – ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ เข้ามากำกับดูแลค่าการกลั่นน้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงนั้น ขอเรียนว่าธุรกิจพลังงานถือเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะที่มีความซับซ้อนตลอดห่วงโซ่อุปทาน 

การกำกับดูแลจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจด้านพลังงาน รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนและราคาพลังงาน ที่สำคัญการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการใดๆ จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน 

ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล บริหารจัดการ และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังมีกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศด้วย ทั้งนี้เป็นหน้าที่ตามกฏหมายของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ แต่แม้กระทรวงพาณิชย์จะไม่ใช่หน่วยงานหลักแต่ก็พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่

รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวต่อว่า ปกติการใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ ของกระทรวงพาณิชย์จะใช้ในการกำกับดูแลสินค้าทั่วไปที่ไม่มีกฎหมายหรือกลไกเฉพาะ เช่น กรณีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ได้มีการกำหนดมาตรการให้สถานีบริการน้ำมันปิดป้ายแสดงราคา และมีการตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรงของหัวจ่ายน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงและวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดได้ทันที คือการใช้อำนาจตามมาตรา ๒๔ และ ๒๕(๒) พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและการบริการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สามารถใช้อำนาจกำหนดอัตรากำไรของสินค้าควบคุมได้นั้น 

เรื่องราคาน้ำมันที่กำลังมีคนชี้มาที่กระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่ ขอเรียนว่าอำนาจหน้าที่ในเรื่องของราคาน้ำมันซึ่งน้ำมันนั้นเป็นสินค้าเฉพาะมีข้อกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันฉบับที่หนึ่ง คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาตรา ๖(๒) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน

โดยให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารพลังงานของประเทศ ถ้าดูกฎหมายนี้จะเห็นว่าคนเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นเลขานุการ ) ซึ่งการกำหนดราคาหรือการวางหลักเกณฑ์เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาและบริหารพลังงานแห่งประเทศด้วย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกระทรวงพลังงาน

“กฎหมายนี้กำหนดเอาไว้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน และที่กระทรวงพลังงานอาจจะมีแนวคิดการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน  พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ มาตรา ๕ ให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤติน้ำมัน  จะเห็นชัดว่าราคาพลังงานเป็นเรื่องที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่บอกไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง”

และมาตรา๒๗ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรา ๒๗(๑)โรงกลั่น ๒๗(๒) ผู้นำเข้า ก็จะเห็นอยู่แล้วว่ากองทุนมีหน้าที่อะไรในเวลาสถานการณ์วิกฤติ ใครควรเข้ามาบริหารจัดการและใครที่จะมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน คือ ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันด้วย ซึ่งเป็นโรงกลั่นการใช้เงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามคณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ประธานคือกระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานให้ข่าวคือการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบกำกับดูแลอย่างถูกต้องทางกฎหมายที่สุด กรณีใดๆที่เป็นสินค้าเฉพาะโดยหลักการของกฎหมายต้องไปว่าที่กฎหมายเฉพาะนั้นๆก่อน

ในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่า ถามว่าทำไมไม่ใช้ราคาตาม พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ กรณีที่ถามเช่นนั้นต้องบอกว่าโดยหลักการของกฎหมาย หากมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องใด นักกฎหมายย่อมเข้าใจดีว่าต้องเดินเริ่มจากตรงนั้นเพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจนแล้ว

ถ้าไปดูใน พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติท้ายกฎหมายจะเขียนไว้ ด้วยว่า การบริหารพลังงานของประเทศ กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆดังนั้น เพื่อให้มีเอกภาพจึงได้จัดตั้ง คณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องพลังงานมีเอกภาพ ดังนั้นกฎหมายชัดเจนที่สุด วัตถุประสงค์ ข้อกำหนด ที่มาเรื่องการมีกฎหมายฉบับนี้ ณ เวลานี้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจึงอยู่ตามกฎหมาย ๒ ฉบับดังกล่าว เพื่อตอบคำถามหลายข้อโดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่แรก

ส่วนที่มีคนกล่าวอ้างว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน กกร.โดยตำแหน่งและในกฎหมายกำหนด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม อยู่ในอำนาจของประธาน กกร.อยู่แล้ว ตรงนี้ไปสัมพันธ์กับ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลหรือไม่   ทุกวันนี้ LPG มีการประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงพลังงานเป็นคนกำหนดราคา LPG ที่จะมีการปรับราคาขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดว่า เดือนละเท่าไหร่ต่อครั้ง

“จะเห็นว่ากระทรวงพลังงานเป็นคนประกาศ ด้วยเหตุผลที่บอกแล้วและใช้เงินกองทุนในเรื่องนั้น วิธีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ทำอะไรในเรื่องของ LPG  หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็คือเมื่อกระทรวงพลังงานประกาศราคาออกมาแล้ว ใครขายเกินกว่านี้กระทรวงพาณิชย์จับ โดยอาศัยมาตรา ๒๙ คือ ผู้ใดจงใจจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร มีโทษผิดพระราชบัญญัติราคา เช่น กระทรวงพลังงานแจ้งราคาถังละ ๓๘๐ บาท ถ้าใครขาย ๔๐๐ บาท กระทรวงพาณิชย์จับ เป็นต้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่จะเห็นว่า LPG ประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงานมาตลอดดังนั้นคำถามคือ เพราะเหตุใดกระทรวงพลังงานประกาศราคา LPG ได้ แต่พอมาราคาน้ำมันเหตุใดบางคนจึงมาบอกว่าให้กระทรวงพาณิชย์เป็นคนกำกับดูแล ผมคิดว่าหน่วยงานราชการทุกหน่วยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ กฎหมายใครก็กฎหมายคนนั้น กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบอยู่ที่ใดผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ควรที่ผู้ใดจะมาบิดเบือนหลักการนี้”