“สุวรรณภูมิ” สนามบินแสนล้าน สู่ศูนย์คัดกรอง “โควิด-19” ด่านเฝ้าระวังโรคระบาดเข้าสู่ประเทศไทย
ในตอนนี้ชื่อของ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นที่จับตามองหลังจากมีกระแสข่าวถึงความวุ่นวายของผู้โดยสารที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศไม่ได้กักตัวถึง 152 คน จนถึงตอนนี้ หลังจากมีมาตรการเรียกตัวผู้โดยสารเหล่านั้นกลับมาสู่กระบวนการกักตัวเฝ้าระวัง ภายใน 18.00 น. ของวันที่ 4 เมษายน 2563 และหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะเริ่มใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ที่ไม่ได้มารายงานตัวภายในเวลาที่กำหนด
สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความกว้างขวางถึง 2 หมื่นไร่ ในเขต อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ด้วยงบประมาณกว่า 1.2 แสนล้านบาท เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายน 2549 อยู่ในความดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในท่าอากาศยานที่คุณภาพบริการดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2553 มีผู้คนเดินทางผ่านที่นี่ปีล่ะไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน
นับตั้งแต่เปิดทำการ สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ปรากฎเป็นข่าวให้เราได้ยินอยู่เสมอ อย่างล่าสุดเมื่อกลางปี 2561 ได้มีการอนุมัติงบ 4.2 หมื่นล้านบาท สำหรับ สุวรรณภูมิเทอมินัล 2 เพื่อรองรับคนเดินทางที่จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 65 ล้านคนในปี 2562 เป็นต้นมา
เมื่อทั่วโลกเริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์ โควิด-19 ประเทศไทยเองในฐานะการเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อย่างที่ สนามบินสุวรรณภูมิ เอง มีรายงานว่าจากที่เคยมีการเดินทางเข้า-ออกเฉลี่ยสูงสุดวันละ 2 แสนคน ได้ลดลงมาเหลือเพียงวันละ 9 หมื่นคนเท่านั้น และยิ่งน้อยลงอีกจากมาตรการชะลอเข้าประเทศ และกักกันโรคระบาด ขณะที่ร้านค้าภายในสนามบินก็ได้รับผลกระทบจากยอดที่ลดลงกว่า 70%
ในทางกลับกัน การเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการเดินทางเข้า-ออกของประเทศทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เป็นหน้าด่านสำคัญในการรับมือกับการระบาดของเชื้อ โควิด-19 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์ฉุกเฉิน หรือ EOC ขึ้นเพื่อทำให้การจัดการด้านสาธารณสุขมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ โควิด-19
หลักปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากบุคคลนั้นเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่รัฐบาลกำหนด โดยให้เฝ้าระวังกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน และต้องไปรายงานตัวต่อศูนย์คัดกรองโควิด-19 ประจำพื้นที่ที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำหนด โดยไม่มีข้อยกเว้นสนามบินสุวรรณภูมิ จึงมีขั้นตอนกระบวนการหลักภายหลังจากผ่าน ตม. เข้ามาแล้วก็คือ การมีเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตรวจสอบ-คัดแยกเบื้องต้น ก่อนนำตัวผู้เดินทางเข้าสู่กระบวนการกักกันต่อไป ในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ คือ โรงแรมบางแห่งในกรุงเทพมหานคร และอาคารรับรอง ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อเฝ้าระวังอาการ
ดังนั้น เหตุการณ์การหนี การกักตัวของคนไทยทั้ง 152 คน จากสนามบินสุวรรณภูมิ จึงถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติตามมาตรการ State Quarantine ซึ่งฐานความผิดในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.สาธารณสุข มีอัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
ที่มา : รู้จัก ‘สุวรรณภูมิ’ สนามบินนานาชาติ สู่ศูนย์คัดกรอง ‘โควิด-19’