เบลเยียมป่วนหนัก เที่ยวบินยกเลิกเกลี้ยง-ขนส่งลด! แรงงานทิ้งงานประท้วงของแพง ค่าแรงไม่พอ

0

จากที่วันนี้  21 มิถุนายน 2565 เพจ Thailand Vision โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งล่าสุดมีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะค่าแรงกับค่าใช้จ่ายไม่สมดุลกันนั้น

ทั้งนี้เพจ Thailand Vision ระบุข้อมูลที่น่าสนใจจากแหล่งที่มาของข่าวว่า สื่อต่างประเทศรายงานว่า สหภาพแรงงานในเบลเยียมผละงานในวันนี้ ประท้วงค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ท่าอากาศยานบรัสเซลส์ต้องยกเลิกเที่ยวบินขาออกทั้งหมด โดยท่าอากาศยานบรัสเซลส์แจ้งว่า ต้องยกเลิกเที่ยวบินขาออกทั้งหมด เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานผละงาน

ขณะที่บริการขนส่งสาธารณะในประเทศก็ลดลงจนเหลืออย่างจำกัด ส่วนการเดินรถไฟยังเป็นไปตามปกติ ส่วนหนึ่งเพื่อให้คนเดินทางมารวมตัวประท้วงในกรุงบรัสเซลส์ สหภาพแรงงานคาดว่า จะมีคนเข้าร่วมการประท้วงจำนวนมาก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในเบลเยียมสูงถึง 9% ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากสงครามยูเครนส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิง และธัญพืชปรับตัวสูงขึ้น

ด้าน นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ โคร เผยกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐว่า แรงงานในเบลเยียมได้รับความคุ้มครองดีกว่าแรงงานในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ เพราะค่าแรงปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ขยายมาตรการลดภาษีขายค่าก๊าซ ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงไปจนถึงสิ้นปีแล้ว”

อย่างไรก็ตามค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศเบลเยียมนั้น ทางทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบเบื้องต้นไปที่เว็บไซต์ rocketmedialab ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของประเทศต่างๆทั่วโลกไว้อย่างน่าชวนติดตาม

โดยระบุไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา จาก 199 ประเทศ/ดินแดนที่ทำการสำรวจ มีประเทศที่ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะในปี 2022 จำนวน 16 แห่ง ประเทศที่ขึ้นเฉพาะในปี 2021 จำนวน 32 ประเทศ และประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งในปี 2021 และในปี 2022 จำนวน 45 แห่ง ส่วนไทยไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับเบลเยียม 10.70 EUR  ต่อชั่วโมง หรือเท่ากับ 400.74 บาทต่อชั่วโมง ( ทีมข่าวเดอะทรูธ นำเทียบ ณ ปัจจุบันคือ มิถุนายน จะเท่ากับ 698 บาทต่อชั่วโมง)

(อ่านรายละเอียดได้ที่  https://rocketmedialab.co/database-minimum-wage/)

นอกจากนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ยังได้ตรวจสอบไปที่ค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ก็พบว่าวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565

กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 16 สาขา โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละระดับให้เป็นดังนี้ กลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง 5 สาขา 1.ช่างติดตั้งยิปซั่ม 450-595 บาทต่อวัน 2.ช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ 645 บาทต่อวัน 3.ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น 450-650 บาทต่อวัน

4.ช่างสีอาคาร 465-600 บาทต่อวัน 5.ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา 47-575 บาทต่อวัน, กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 4 สาขา 1.ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) 450-650 บาทต่อวัน 2.ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ 430-550 บาทต่อวัน 3.ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) 525 บาทต่อวัน 4.ช่างเครื่องถม 625 บาทต่อวัน

กลุ่มอาชีพภาคบริการ 7 สาขา 1.นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) 460-575 บาทต่อวัน 2.ผู้ประกอบขนมอบ 400-505 บาทต่อวัน 3.พนักงานต้อนรับส่วนหน้า 440-565 บาทต่อวัน 4.พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 440 บาทต่อวัน 5.ช่างแต่งผมสตรี 440-650 บาทต่อวัน 6.ช่างแต่งผมบุรุษ 430-630 บาทต่อวัน 7.การดูแลผู้สูงอายุ 500 บาทต่อวัน