จากกรณีวอลมาร์ท (Walmart) ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่อเมริกา หยุดจำหน่าย กะทิไทยแบรนด์ดัง โดยโละออกจากชั้นวางสินค้า เพราะรายงานขององค์กรคุ้มครองสิทธิสัตว์ หรือ PETA (พีต้า) กล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานลิงรเก็บมะพร้าวที่ไทยนั้น
ทั้งนี้ บนเว็บไซต์ PETA ว่าบริษัทผู้ผลิตกะทิในไทย มีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งลิงเหล่านี้จะถูกล่ามโซ่ ถูกทารุณ และได้รับการดูแลอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงอ้างว่าทาง PETA Asia ได้เกาะติดเรื่องการใช้แรงงานลิงในไทยตั้งแต่ปี 2562 พบว่ามีการใช้ความโหดร้ายต่อลิงในทุกๆ สวน และทุกสถานที่ฝึกลิง และยังดำเนินการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งในปี 2563
ต่อมา นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีห้าง Walmart ถอดสินค้ากะทิจากไทยออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า จากการกดดันของ PETA ว่า ได้สอบถามไปยังทูตพาณิชย์ที่สหรัฐ พบว่าโดยทั่วไปการที่จะมีหรือไม่มีสินค้าบางชนิด/บางยี่ห้อวางขายในบางช่วงเวลานั้น เป็นไปตามวงจรการวางขายสินค้าของร้าน ซึ่งจะมีการปรับสินค้าและปริมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามฤดูกาล
“ขณะนี้ Walmart ยังคงนำเข้า/จำหน่ายสินค้าจากไทย และรักษาความสัมพันธ์อันดีตามปกติ คาดว่า PETA อาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวที่ไม่ได้มีกะทิจากไทยวางขายสร้างประเด็นทางการค้า” นายภูสิต กล่าว
สำหรับมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั่วโลกปี 2564 มีมูลค่า 26,582.56 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.57 และตลาดสหรัฐ คิดเป็นหนึ่งในสี่ของตลาดส่งออกทั้งหมด หรือ ประมาณ 25%
ขณะที่ เพจThailand Vision โพสต์ข้อความเผยแพร่ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวไว้บางช่วงที่น่าสนใจว่า “ผู้ผลิตกะทิชาวเกาะชื่อดังออกมายืนยันว่า บริษัทไม่ได้ใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมะพร้าว และกะทิกระป๋องตามข้อกล่าวหา PETA หลังสื่อนอกรายงานข่าวห้างวอลมาร์ทในอเมริกายกเลิกการจำหน่าย เปิดเผยความก้าวหน้าการสอบสวนจากผู้ตรวจสอบทางบริษัทชื่อดังว่า ไม่พบหลักฐานการใช้แรงงานลิงในกระบวนการ
ทางบริษัทออกแถลงการณ์ถึงความคืบหน้าผลการตรวจสอบการใช้แรงงานลิงจากการสอบสวนของบริษัทผู้ตรวจสอบมาตรฐานชื่อดังระดับสากล บูโร เวอริทัส ประจำประเทศไทย ( BUREAU VERITAS , Thailand) โดยในการแถลงระบุว่า สำหรับผลการตรวจสอบเฟสแรกที่ออกมาในปี 2563 นั้นทางบูโร เวอริทัสได้สรุปว่า “ไม่มีหลักฐานการใช้แรงงานลิงในการกระบวนการเก็บเกี่ยวมะพร้าวของบริษัทเทพพดุงพร”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2563 ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้รายงานข่าวจากที่สำนักข่าวบีบีซีเผยรายงานซูเปอร์มาร์เก็ตของสหราชอาณาจักรนำผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว และน้ำมันมะพร้าวออกจากชั้นวาง หลังพบใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวโดยองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ พีตา
ทำให้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวว่า NGO ฝรั่งดัดจริต องค์กรพิทักษ์สัตว์ People of the Ethical Treatment Of Animals หรือชื่อย่อว่า PETAพีต้า มี สนง.ใหญ่ที่ รัฐเวอร์จิเนีย USA ทำรายงานส่งห้างสรรพสินค้า ในยุโรปและสหรัฐว่า ไทยทรมานสัตว์ด้วยการใช้ ลิงเก็บมะพร้าวส่งออกไปขายทั่วโลก เป็นผลให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆตอบสนองด้วยการเลิกสิ่งซื้อกะทิ และผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย
ในขณะที่คนตะวันตกนั่นเอง เอาม้ามาแข่งม้า เอาลามาลากเลื่อนบนหิมะ เอาหมามาดมกลิ่นเสี่ยง ภัยกับโจร เอาสัตว์นานาชนิดมาเล่นละครสัตว์ เอากระทิงมาเป็นเหยื่อให้มาธาดอร์ฆ่าในสนาม สังหารวัว”
ขณะที่ดร.สหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์กรพีต้ามีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูลเช่นนี้ เพราะเมื่อปลายปี 2562 พีต้าเคยออกมาโจมตีการส่งออกปลากัดสวยงามของไทยจนเกิดความเสียหายมาแล้ว
โดยเลือกแต่มุมลบมานำเสนอให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างเช่น การเลี้ยงปลากัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ทั้งที่ความจริงเป็นธรรมชาติของปลากัดมีสัญชาตญาณในการต่อสู้ ดังนั้นจึงต้องแยกเลี้ยงเพื่อไม่ให้กัดกันจนได้รับบาดเจ็บ มีอวัยวะที่ช่วยในการหายใจในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้ จึงมีสภาพการเลี้ยงที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น
พีต้านำภาพปลาตายแล้วอ้างว่ามาจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม กักขังให้อยู่ในน้ำไม่ถึงครึ่งลิตร ทั้งๆที่ปลาตายเพราะเป็นโรคแต่รายงานบิดเบือนข้อเท็จจริง ภาพไม่สอดคล้องกับเนื้อหา มุ่งเน้นทำลายธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม มีการใช้รูปปลาปักเป้าลอยตายก็บอกว่าเป็นปลากัด ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายมากของผู้ทำคลิป เรื่องแบบนี้เป็นการสร้างประเด็นมุ่งโจมตีประเทศไทยให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่องค์กรมากกว่าที่จะพิทักษ์สัตว์อย่างแท้จริง