แค่ยกแรก!! รัฐถกวงใน 6 โรงกลั่นบี้ลด ‘ค่ากลั่น’ ยอมคายกำไร ๕,๐๐๐ ล้านบาทตรึงราคาน้ำมัน

0

‘ค่ากลั่นน้ำมัน’ กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า ทำกำไรเกินควรแก่บริษัทน้ำมันขาใหญ่ในไทยทั้งหลาย สมควรจัดการให้ลดลงเพื่อจะช่วยรับมือราคาน้ำมันที่มีแต่จะพุ่งไปหน้าคุมไม่ได้ สร้างภาระต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนักทั้งนี้ภาคเอกชนและประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน 

ด้านรัฐบาลรับลูกเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถก ๓ แนวทางคุมค่าการกลั่น แต่ยังไม่สำเร็จผล  ชี้ติดปัญหาข้อกฎหมายและนโยบายการค้าเสรี ขณะที่น้ำมันดีเซลทะลุ ๓๕ บาท/ลิตรแล้ว ด้านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็วิกฤตขาดทุนยังไร้ทางออกที่ชัดเจน เรื่องนี้บล.กสิกรเปิดเผย รัฐถกวงใน ๖ โรงกลั่นพร้อมให้ความร่วมมือ ลงขันลดกำไรช่วยรัฐ ๕,๐๐๐ ล้านบาท

หลังจากที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย “จุดพลุ” ขอให้รัฐบาลทบทวน “กำไรจากค่าการกลั่น (GRM-gross refining margin) ซึ่งเป็นอัตราการทำกำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่สูงมาก หรือเฉลี่ย ๕.๗๔ บาท/ลิตร (ระหว่างวันที่ ๑-๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕) ท่ามกลางราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดีเซลลิตรละ ๓๔.๙๔ บาท, แก๊สโซฮอล์ ๙๑-๙๕ ลิตรละ ๔๔.๘๘-๔๕.๑๕ บาท และเบนซิน ๙๕ ลิตรละ ๕๒.๕๖ บาท

ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกสำคัญในการตรึงราคาน้ำมันภายในประเทศก็กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตขาดสภาพคล่องจากผลการอุดหนุนราคาน้ำมันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2564 จนฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิติดลบใกล้จะทะลุ -๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้แล้ว

ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจำนวน 6 แห่ง มีการรายงาน “ค่าการกลั่น” ในช่วงไตรมาส ๑/๒๕๖๕ อยู่ระหว่าง ๖-๒๒ เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจัดเป็นอัตราทำกำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมันที่สูงมาก สอดคล้องกับการคำนวณค่าการกลั่นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เฉลี่ย ๕ เดือน (มกราคม-พฤษภาคม ๒๕๖๕) อยู่ที่ 3.27๓.๒๗ บาท/ลิตร

 

โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า ค่าการกลั่นอยู่ที่ ๕.๒๐ บาท/ลิตร (คำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของปริมาณการผลิตของประเทศ กับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย ๓ แห่งสำคัญ ดูไบ-โอมาน-ทาปิส) ซึ่งสูงกว่าค่าการกลั่นในภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่เคยอยู่ระหว่าง ๒-๒.๕๐ บาท/ลิตรเท่านั้น

ทั้งนี้ ค่าการกลั่น ตามคำนิยามของ สนพ.หมายถึง กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยกำไรของโรงกลั่นจะยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ ดังนั้น ยิ่งค่าการกลั่น (GRM) สูงขึ้นเท่าไร หมายความว่า การทำกำไรเบื้องต้นจากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นก็จะสูงขึ้นเท่านั้น จนกลายเป็นกระแสเรียกร้องที่ว่า รัฐบาลควรจะเข้ามาบริหารจัดการค่าการกลั่นที่สูงกว่าอัตราปกติด้วยการนำ “ส่วนต่างกำไรที่สูงกว่าปกติ” เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุกรอบที่วางเอาไว้ที่ ๓๕ บาท/ลิตร หรือไม่

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมา “ตอบรับ” ที่จะเข้าไปบริหารจัดการค่าการกลั่นที่สูงกว่าภาวะปกติ ด้วยความหวังที่ว่าจะนำ “ส่วนต่าง” ที่สูงกว่าปกตินั้นมาช่วย “อุดหนุน” ราคาน้ำมันภายในประเทศให้ลดต่ำลงนั้น ด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่แพงขึ้นมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็จะช่วย “ต่ออายุ” ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศออกไปอีกระยะหนึ่ง

โดยแนวทางที่มีการหารือในการเข้าบริหารจัดการค่าการกลั่นจะมี ๓ แนวทาง คือ 

๑) การขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันลดกำไรจากค่าการกลั่นลง และนำกำไรนั้นส่งผ่านมาช่วยลดราคาน้ำมันสำเร็จรูป 

๒) การเรียกเก็บภาษี (tax) ค่าการกลั่นในลักษณะเดียวกันกับภาษีลาภลอย หรือ windfall tax และ 

๓) การใช้อำนาจของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา ๑๔ ให้โรงกลั่นน้ำมันนำส่งค่าการกลั่นส่วนเกินจากอัตราปกติ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมา “อุดหนุน” ราคาน้ำมันภายในประเทศให้ลดต่ำลง

แหล่งข่าวกล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเข้าไปบริหารจัดการค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันก็คือ ไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจโดยตรง เนื่องจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันเป็นการค้าเสรีที่รัฐให้สัญญาไว้ตั้งแต่การเชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาดำเนินการลงทุนตั้งโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ ประกอบกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เองก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าค่าการกลั่นที่คำนวณได้ยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จึงไม่ใช่กำไรสุทธิที่แท้จริง” 

อย่างไรก็ตาม วิธีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การขอความร่วมมือโดยสมัครใจจากโรงกลั่นน้ำมันให้ส่งผ่านกำไรส่วนต่างของค่าการกลั่นที่สูงผิดปกติ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันภายในประเทศ โดยวิธีนี้ไม่ต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษี (tax) ซึ่งจะเสี่ยงต่อการผิดสัญญาการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติที่รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง ส่วนวิธีการใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมันเข้ากองทุนนั้น แม้จะมีอำนาจดำเนินการได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร

“แนวทางขอความร่วมมือนั้น มีโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นธุรกิจของคนไทยเปิดทางแล้วว่า ยินดีให้ความร่วมมือ แต่วิธีการนี้ก็ขึ้นกับความสมัครใจของโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติด้วยที่ยังไม่มีคำตอบ นอกจากนี้แล้วยังมีข้อถกเถียงกันอีกด้วยว่า หากจะนำกำไรที่สูงกว่าอัตราปกติมาช่วยลดราคาน้ำมันสำเร็จรูปลงนั้น จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานที่ว่า อัตราค่าการกลั่นปกติควรอยู่ที่เท่าใด ในประเด็นนี้มีข้อเสนอว่า ให้ใช้ค่าการกลั่นมาตรฐานของโรงกลั่นน้ำมันที่สิงคโปร์ใช้ เป็นตัวเปรียบเทียบ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การลดค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันลง ทางกระทรวงพลังงานต้องหารือกับโรงกลั่นน้ำมัน แต่การจะ “ดึง” ค่าการกลั่นมาช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯนั้นจะต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งจะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา “น่าจะใช้เวลานาน”

ดังนั้นการแก้ปัญหาระยะสั้นอาจจะต้องเป็นการ “ขอความร่วมมือ” จากโรงกลั่นน้ำมัน แต่เงินที่ได้รับมาก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้ในระยะยาว กองทุนน้ำมันฯยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพา “เงินกู้” จากสถาบันการเงินอยู่ดี โดยความคืบหน้าล่าสุดทางธนาคารที่พร้อมจะปล่อยกู้กำลังรอให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เสนอเรื่องมายัง ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้กับกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทุนน้ำมันฯมีรายรับจากงบประมาณที่แน่นอน

“ตอนนี้ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณให้กองทุนปีละเท่าไหร่ เป็นเวลากี่ปี ที่สำคัญก็คือ ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ลดลง นั่นหมายความว่า การตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจะกลายเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯไม่สิ้นสุด สุดท้ายราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจะต้องปรับให้เข้าใกล้กับราคาตลาดมากที่สุดอยู่ดี เพราะไม่เช่นนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯก็จะรับไม่ไหว”

 

ทางด้านนายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่พรรคกล้ามีข้อเสนอให้มีการกำหนดเพดานการกลั่น กับควรมีการเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) นั้น ถ้าเป็นเรื่องของการกำหนดเพดานการกลั่นและมีเพดานราคาสูงสุด-ต่ำสุด จุดคุ้มทุนของโรงกลั่นน้ำมันจะอยู่ประมาณ ๔-๕ เหรียญ เพราะหากเพดานอยู่ที่ ๖ เหรียญ โรงกลั่นน้ำมันก็ยังมีกำไร แต่รัฐบาลคงไม่ยอมให้โรงกลั่นน้ำมันมีกำไรถึง ๖ เหรียญอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นในความเป็นจริง ย้อนกลับไปในปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาด (๒๐๑๗-๒๐๑๘) กำไรของโรงกลั่นน้ำมันจะอยู่ประมาณ ๔-๕ เหรียญ จนถึงช่วงโควิดระบาดลดลงมาเหลือ ๑-๒ เหรียญ นั่นหมายถึง ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขาดทุน แต่พอมาถึงช่วงนี้โรงกลั่นน้ำมันเพิ่งจะมามีกำไรจากค่าการกลั่นที่พุ่งขึ้นสูงมาก “หากรัฐบาลซีลลิ่งก็ต้องมีฟลอร์ ซึ่งกรณีแบบนี้ผมมองว่า ไม่ใช่เป็นกลไกตลาดที่ดี เพราะถ้าไปกำหนดแบบนี้ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะได้กำไรชัวร์ ๆ แน่ ๆ” นายจักรพงศ์กล่าว

ส่วนกรณีข้อเสนอให้เก็บภาษีลาภลอยนั้น ถามว่าถ้ารัฐบาลจะทำก็ทำได้ โดยต้องออกเป็นกฎหมาย แต่เรื่องสำคัญกว่าก็คือ ในอนาคตเลิกคาดหวังได้ว่า ประเทศไทยจะมีการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ เพราะนโยบายรัฐบาลไม่นิ่ง ช่วงที่โรงกลั่นน้ำมันมีกำไรก็ไปเรียกเก็บภาษี แต่ช่วงโรงกลั่นน้ำมันแย่รัฐบาลเข้าไปช่วยอะไรบ้าง ดังนั้นโรงกลั่นน้ำมันคงไม่ยอมให้มีการไปเก็บภาษีฟรี ๆ เมื่อมีการเก็บภาษีส่วนที่เกิน พอถึงช่วงผลประกอบการโรงกลั่นน้ำมันแย่ก็คงต้องคืนกลับให้ด้วยเหมือนกับเครดิตภาษี (tax credit)

อย่างไรก็ตาม หากจะใช้การขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันให้ช่วยแบ่งกำไรมาช่วยในส่วนของราคาน้ำมันดีเซล ในอดีตโรงกลั่นน้ำมันเคยให้ความร่วมมือทั้งอุตสาหกรรมประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาทจาก TOP-PTTGC-IRPC-BCP ถ้าเทียบกันแล้วค่าการกลั่นอยู่ประมาณ ๑๐ เหรียญ ธุรกิจโรงกลั่นได้รับผลกระทบต่อกำไรประมาณ ๓% แต่รอบนี้ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ประมาณ ๑๐ เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นจึงต้องดูว่า รัฐบาลจะเรียกเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมันเท่าไหร่

นายจักรพงศ์กล่าวว่า “เบื้องต้นจากการหารือกัน โรงกลั่นทั้ง ๖ แห่งในปัจจุบันคือ TOP-PTTCG-IRPC-BCP-SPRC-ESSO เกือบทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือ โดยจะช่วยกันหมด โดยเม็ดเงินที่จะช่วยรัฐบาล คาดว่าจะอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านบาท ช่วยกันตามความสามารถของโรงกลั่นแต่ละแห่ง ถ้าเป็นไปตามนี้ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับผลกระทบต่อกำไรประมาณ ๓-๕% เม็ดเงินช่วยเหลือถือว่าไม่เยอะมาก เพราะช่วงโควิด-๑๙ โรงกลั่นน้ำมันก็สะบักสะบอม เพิ่งเริ่มมีกำไรกันจริงก็ไตรมาส ๑/๒๕๖๕”