อย่าประมาท!!ผู้ว่าธปท.จี้เร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อพุ่ง แนะสร้างภูมิคุ้มกัน ๕ ด้านเป็นกันชนรองรับพายุศก.ผันผวน

0

เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงถดถอยอย่างมาก เวิลด์แบงก์ ได้ออกคำเตือนตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ และการเติบโตเศรษฐกิจต่ำ ซึ่งเรียกกันว่า stagflation คือภาวะชะงักงัน หรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง เพราะขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นไม่หยุด

ล่าสุดผู้ว่าการธปท. เตือนรัฐบาลตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้าไม่ดี -โอกาสทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจสะดุด หลังความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดทั่วโลก กดดันครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายหนักกระทบปากท้องคนไทย แนะให้เตรียมสร้างภูมิคุ้มกัน ๕ ด้านรับแรงกระแทกคลี่นเศรษฐกิจผันผวน

วันที่ ๑๔ มิ.ย.๒๕๖๕ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ว่า โลกขณะนี้อยู่ในความเสี่ยงต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤติโควิด-๑๙ สงครามยูเครน-รัสเซีย และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย สิ่งที่ต้องทำ คือ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูประเทศ โดยเน้นดูแลเสถียรภาพ ๕ ด้าน คือ

๑.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ซึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยแข็งแกร่งสูงเป็น ๗ เท่าของหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ รองรับการไหลออกของเงินทุนได้ดี เงินเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่น่าห่วงเพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท

๒.เสถียรภาพด้านการคลัง ที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐% จากเดิมอยู่ที่ ๔๖% แต่ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายด้านการคลังเป็นแนวทางเดียวกับต่างประเทศ  โดยเฉพาะการรับมือกับโควิด-๑๙ แต่การอัดฉีดมาตรการภาครัฐทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ในปีก่อนหน้า

แต่หากไม่มีมาตรการด้านการคลังอัดฉีดจีดีพีไทยอาจจะติบลบถึง ๙%  หรือปีที่ผ่านมาจีดีพีอาจติดลบ ๔%จากประมาณการเดิมจะเติบโต ๑.๕% ถ้าไม่มีมาตรการรัฐหรือมาตรการด้านการคลังเข้ามาช่วยเหลือ  เพราะฉะนั้นความจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลังแม้ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น  แต่เสถียรภาพด้านการคลังไม่ได้เป็นปัญหา    เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนบัตรรัฐบาลอายุ ๑๐ ปีอยู่ที่ ๒.๘% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดเทียบประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งหากเสียเสถียรภาพดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะสูงกว่านี้

๓.เสถียรภาพการเงิน แม้หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า ๙๐% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ภาพรวมสภาพคล่องยังมีมากภาพรวมงบดุลภาคธุรกิจหรือรายใหญ่ยังแข็งแรงภาระหนี้ค่อนข้างต่ำ 

๔.เสถียรภาพด้านราคา คือเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน อาหาร สินค้า และ ธปท.ได้เพิ่มประมาณการเงินเฟ้อเป็น ๖.๑% ในปีนี้ โดยชั่งน้ำหนักเสถียรภาพเงินเฟ้อกับการขยายตัวเศรษฐกิจ ภายใต้โจทย์ คือ ช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาก อาจกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ราบรื่นได้”

ทั้งนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆลดลง และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนจะถามว่าขึ้นเมื่อไร อย่างไร อย่างแรกคือ จะขึ้นตามสถานการณ์ของไทย ไม่เกี่ยวกับต่างประเทศ และเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต้นๆในภูมิภาค แต่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุด เหมือนเราเหยียบคันเร่งมานาน ต้องเริ่มถอนคันเร่ง ไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด แต่ไม่ใช่เหยียบเบรก แต่ขึ้นดอกเบี้ยทำช้าเกินไปไม่ดี ถ้าปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด วงจรการขึ้นราคาเกิดขึ้น การถอนคันเร่งอาจไม่พอ ต้องแตะเบรก ซึ่งกระทบเศรษฐกิจมากกว่า

นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า จากการศึกษาของ ธปท.พบว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้น มีผลเพิ่มค่าครองชีพคนไทยสูงกว่าขึ้นดอกเบี้ย ในระดับ ๑% จากนี้ประมาณ ๗ เท่า แต่ตัวเลข ๑% เป็นเพียงสมมติฐาน และเตรียมมาตรการต่างๆรองรับลูกหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามการสร้างภูมิคุ้มกัน

๕. เสถียรภาพในการทำนโยบายสาธารณะ กลไกหรือกระบวนการทำนโยบายที่ดี และมั่นใจว่านโยบายที่ออกมานั้นเหมาะและสร้างสมดุลกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งองค์ประกอบการดำเนินนโยบายที่ดี  ได้แก่ ๑. กระบวนการถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลและประเมินผลภายหลังออกนโยบายแล้ว ๒.นโยบายต้องถูกต้องมากกว่าถูกใจ เพราะเป็นการทำเพื่อส่วนรวมหรือภาพรวม ไม่ใช่ดูเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ ๓.นโยบายต้องมีความโปร่งใส่ ที่มาของนโยบายชัดเจนและสามารถอธิบายได้เพื่อผลลัพธ์ที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศเป็นหลัก