แสบถึงทรวง! “ส.ส.ยุโรป” ฟาด กลาโหมEU รับใช้อเมริกา ยอมแบกค่าใช้จ่ายแทน ซัดรัฐที่51ของสหรัฐ
จากกรณีที่มีรายงานว่าสหภาพยุโรป (EU) ได้เสนอให้แก้ไขคำสั่งห้ามการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจากเดิมที่จะอนุญาตให้ฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก สามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้จนถึงสิ้นปี 2023 เป็นสามารถซื้อได้จนถึงสิ้นปี 2024 ขณะที่ประเทศสมาชิกอีก 25 ประเทศจะยุติการสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ตามเดิม
ขณะที่นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไม่ได้ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ EU ยังคงมั่นใจว่ามาตรการคว่ำการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 24 ประเทศ
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ทางด้าน มิสลาฟ โคลาคูซิช สมาชิกรัฐสภายุโรปจากโครเอเชีย ตำหนิอย่างรุนแรงต่อนโยบายต่างประเทศและกลาโหมของอียู ชี้ว่าทางกลุ่มกำลังกลายเป็นคนรับใช้ของวอชิงตัน หลังจากก่อนหน้านี้เคยวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซียของตะวันตกและข้อจำกัดสกัดโควิด-19
ระหว่างกล่าวกับรัฐสภายุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โคลาคูซิช บอกกับเพื่อร่วมสมาชิกรัฐสภาว่า “ทุกวันนี้ นโยบายด้านต่างประเทศ กลาโหมและความมั่นคงของอียู สามารถบรรยายได้ด้วยเพียงประโยคเดียว นั่นคือสหภาพยุโรปกลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพียงแต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง”
โคลาคูซิช ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำๆเกี่ยวกับนโยบายของอียูที่มีต่อรัสเซีย นับตั้งแต่ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของมอสโกเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยนโยบายดังกล่าว ได้เห็นสมาชิกของสหภาพยุโรปลดพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย เพิ่มใช้จ่ายด้านกลาโหมและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียรอบแล้วรอบเล่า ยอมแบกรับค่าใช้จ่ายตามเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ
“มันเป็นคำโกหกที่น่าเหลือเชื่อและตลบตะแลง ที่ว่ามาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียและแบนนำเข้าน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรัสเซีย เป็นการลงโทษรัสเซีย แต่ความเป็นจริงคือมาตรการคว่ำบาตรเป็นการเล่นงานพลเมือง 500 ล้านคนของสหภาพยุโรปโดยตรง เช่นเดียวกับพลเมืองอีกหลายล้านคนในประเทศยุโรปอื่นๆที่เหลือ” เขากล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม
โคลาคูซิช ยังเคยเรียกบรรดาผู้นำโลกในยุโรปและอื่นๆ ว่าเป็นพวกต่อต้านสังคมและมีบุคลิกผิดปกติไร้ความรู้สึก เกี่ยวกับข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ของพวกเขา และเรียกแคนาดาว่าเป็น “เผด็จการกึ่งเสรีนิยม” ต่อหน้านายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด
นอกจากนี้แล้ว โคลาคูซิช ยังประณามนโยบายพลังงานสะอาดของอียู โดยบอกว่า “การประกาศให้คาร์บอนไดออกไซด์และเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นศัตรูของพลเมืองสหภาพยุโรปเป็นเรื่องบ้าสิ้นดี และจะทำให้ชาวยุโรปจะต้องหันมาขี่จักรยาน แบบเดียวกับที่ จีน เคยเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน”
ประเด็นการครอบงำยุโรปของอเมริกา เคยโหมกระพือข้อโต้เถียงแบบเดียวกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น เคยส่งเสียงคัดค้านนาโต้ โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรทหารดังกล่าวว่าเป็น “กลไกแอปแผงกุมอำนาจเหนือยุโรปของอเมริกา” และเขาถอนฝรั่งเศสออกจากการเป็นสมาชิกนาโต้ในปี 1966 โดยชี้ว่าการเป็นสมาชิกนาโต้บ่อนทำลายอธิปไตยของชาติ
เมื่อไม่นานมานี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน เคยพูดถึงความจำเป็นของยุโรป ในการยึดมั่น “ความเป็นเอกราชทางยุทธศาสตร์” และตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของนาโต้ อย่างไรก็ตามหลังเกิดความขัดแย้งในยูเครน มาครง กลับลำระบุว่าพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯแห่งนี้ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวหาบรรดาผู้นำชาติยุโรปว่า “กำลังฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ” ด้วยการห้ามนำเข้าพลังงานรัสเซีย โดยระบุอียูกำลังดำเนินการสวนทางกับผลประโยชน์ของตนเอง “ภายใต้แรงกดดันจากนายหัวอเมริกา”