อย่าลังเล!! สภาอุตฯจี้รัฐหาทางซื้อสินค้าตรงจากรัสเซีย แก้ปัญหาน้ำมัน-อาหารแพง ก่อนคนไทยกระเป๋าฉีก

0

ส.อ.ท.เปิดเผยว่าความเชื่อมั่นอุตสา่หกรรมเดือนเม.ย.ยังดิ่งต่อเป็นเดือนที่ ๒ จี้รัฐบาลหาวิธีทางการทูตซื้อสินค้าตรงจากรัสเซียเพื่อช่วยคนในประเทศ พร้อมห่วงดีเซลพุ่งกระทบภาคบริโภคทั้งระบบกดดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม เสนอตั้งคณะทำงานแก้วิกฤตด่วน

วันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๖๕ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. ๒๕๖๕ อยู่ที่ระดับ ๘๔.๓ ปรับตัวลดลงจากระดับ ๘๖.๒ ในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ ๒ ติดต่อกันจากเดือนมี.ค. ๒๕๖๕ ปัจจัยสำคัญมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง

จากการสำรวจผู้ประกอบการ ๑,๓๒๓ ราย ครอบคลุม ๔๕ กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ พบว่า 

ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ 

  • ราคาน้ำมัน ๘๕.๕% 
  • สภาวะเศรษฐกิจโลก ๖๕.๗% 
  • เศรษฐกิจในประเทศ ๕๙%

ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ 

  • สถานการณ์ระบาดของโควิด-๑๙ ๕๕.๕%  
  • อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ๓๖.๔%
  • สถานการณ์การเมืองในประเทศ ๓๕.๑% 
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ๓๓.๒% 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการปิดเมืองของจีนส่งผลให้เกิดปัญหาซัพพลาย ช็อตเทจ โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-๑๙ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น นโยบายเปิดประเทศและการยกเลิกระบบเทสต์แอนด์โก ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ใกล้แตะราคาเพดาน ๓๕ บาทต่อลิตร ภาคเอกชนมีความกังวลว่าจะทะลุเพดาน ๓๕ บาทต่อลิตร เรื่องจากราคาดังกล่าวมาจากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ๑๐๐-๑๑๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะนี้ราคาน้ำมันขึ้นระดับ ๑๑๐-๑๒๐ เหรียญฯ ล่าสุดเอกชนประเมินว่าจะขึ้นระดับ ๑๓๕-๑๔๐ เหรียญฯ เพดานอาจต้องขยับเป็น ๔๐ บาทต่อลิตร ซึ่งภาคเอกชนแม้จะได้รับผลกระทบรุนแรงแต่ได้วางแผนความเสี่ยงเพื่อรับมือแล้ว ที่ห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือนที่จะกระทบอำนาจการบริโภค เมื่อรายจ่ายเพิ่มความสามารถการชำระหนี้จะลดลง อาจกดดันหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นไปอีก จากปัจจุบันก็สูงมากอยู่แล้วระดับ ๙๐.๑%

นายเกรียงไกร กล่าวว่า “ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างปรับลดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพี มีเพียงไทยที่หน่วยงานรัฐปรับเพิ่มจีดีพี รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน คาดว่าคงหวังภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวดึงจีดีพี แต่มุมเอกชนกลับมีความกังวลปัจจัยโลกโดยเฉพาะสงคราม เพราะเริ่มส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลง เริ่มเห็นบางอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งขนาดรายได้ของภาคส่งออกสูงกว่าภาคท่องเที่ยว แม้รายได้ท่องเที่ยวทดแทนคงไม่พอ 

ดังนั้นเวลานี้สิ่งที่ควรดำเนินการคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน อาจตั้งคณะทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันทำงานเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด”

นายเกรียงไกร กล่าวว่าจากการรวบรวมความเห็นของสมาชิกส.อ.ท. เพื่อเสนอต่อรัฐบาลประกอบด้วย 

๑.เสนอให้ภาครัฐช่วยเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทน โดยเฉพาะ ปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี ขณะเดียวกันอยากขอให้ภาครัฐใช้วิธีทางการทูตเจรจาซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้าโดยตรงจากรัสเซีย อาทิ ปุ๋ย เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่หาวิธีช่วยเหลือคนในประเทศตัวเองก่อน เพราะหากไทยไม่ทำวิธีดังกล่าวจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและเพื่อความมั่นคงระยะยาว

๒.ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี อาทิ เงินอุดหนุนรักษาการจ้างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ 

๓.เสนอภาครัฐเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ และออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๕  และ

๔.ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม