จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศไทย ชี้แจงสตช.มีคำสั่งให้เฝ้าระวังบุคคลสัญชาติอิหร่าน ยืนยัน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นการข่าวที่นำเสนอโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไร้ความรับผิดชอบ นำไปสู่ความเสียหายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ จึงตรวจสอบถึงที่มาเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็พบว่าที่เฟซบุ๊ก The Public Post ได้โพสต์เผยแพร่กรณีดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ว่า
“สถานทูตอิหร่าน ประณาม บางกอกโพสต์ แพร่ข่าวเท็จ หลังอ้างสตช.เฝ้าระวังสูงสุดสายลับอิหร่านก่อการร้าย ผู้นำชีอะห์ถามหาจรรยาบรรณสื่อ
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย ประณามนสพ.บางกอกโพสต์ กล่าวหาโดยไม่มีมูลและแพร่ข่าวเท็จ หลังสื่อไทยชื่อดังรายงานอ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติออก “คำสั่งลับ” ให้ตำรวจทั่วประเทศติดตามการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านและชาวไทยมุสลิมที่สงสัยว่าทำงานเป็นสายลับในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ผู้นำชีอะห์ไทยฉะนักข่าวไร้จรรยาบรรณ เขียนข่าวด้านเดียวโดยอ้างแหล่งข่าวนิรนามสร้างความเสียหายผู้อื่น
นอกจากนี้เฟซบุ๊ก The Public Post ยังได้นำลิงก์ของข่าวดังกล่าวมาลงต่อท้ายไว้ด้วย ซึ่งเมื่อคลิกเข้าไปก็จะพบที่มาของเนื้อหาข่าว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทั้งหมด ทางทีมข่าวเดอะทรูธจึงขอนำบางส่วนของเนื้อหามานำเสนอต่อดังนี้
(อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.publicpostonline.net/56167)
รายงานของบางกอกโพสต์ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ได้เผยแพร่รายงานข่าวในภาษาอังกฤษที่เขียนโดย “นาย….” อ้างแหล่งข่าวตำรวจระดับสูง ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออก “คำสั่งลับ” ให้ตำรวจทั่วประเทศจับตาสายลับจากอิหร่าน
บางกอกโพสต์รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงกำลังติดตามการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านและชาวไทยมุสลิมที่สงสัยว่าทำงานเป็นสายลับให้อิหร่านในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
บางกอกโพสต์ยังอ้างด้วยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ออกคำสั่งให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาค เฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของสายลับเหล่านี้
บางกอกโพสต์ระบุว่า คำสั่งนี้อ้างถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ที่ทางการอินโดนีเซียพบว่า นายกัสเซม ซาบีรี กิลชาลาน (Ghassem Saberi Gilchalan) เดินทางเข้าประเทศโดยถือหนังสือเดินทางบัลแกเรีย ต่อมาพบว่าเป็นของปลอม และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ชายคนนี้ถูกจับโดยทางการชาวอินโดนีเซียที่ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ขณะกำลังจะเดินทางออกไปยังประเทศกาตาร์
ชายคนนี้บอกตำรวจว่าเขาใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อเข้าประเทศ ตำรวจชาวอินโดนีเซียพบว่าเขาเข้ามาในประเทศมากกว่า 10 ครั้งโดยใช้เอกสารปลอม และศาลตัดสินจำคุกเขาสองปีในความผิดดังกล่าว
ตำรวจชาวอินโดนีเซียยังพบว่า ชายคนนี้มีโทรศัพท์มือถือ 11 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 1 เครื่อง ซิมการ์ดจำนวนหนึ่ง และเงินสดมูลค่ากว่า 320,000 บาท แหล่งข่าวกล่าวเสริม
(อ่านรายละเอียดต้นทางข่าวบางกอกโพสต์ ได้ทั้งหมดที่ https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2321094/iran-spy-puts-cops-on-alert?fbclid=IwAR3LBZ0mSveCtzd8wTvi1tYAchzoCIiI-NIQaohGWR08NzbBPJ0SmtAmtGY)
สถานทูตอิหร่านประณามบางกอกโพสต์แพร่ข่าวเท็จ 7 มิ.ย.2565 เดอะพับลิกโพสต์ได้รับจดหมายข่าวลงวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทยซึ่งมีเนื้อหาตอบโต้รายงานดังกล่าวของบางกอกโพสต์ พร้อมทั้งประณามว่าเป็นการแพร่ข่าวเท็จ โดยระบุว่า
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ ปฏิเสธและขอประณามข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลของสื่อในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับประเทศอิหร่านและพลเมืองอิหร่าน
หลังสื่อไทยเผยแพร่ข่าวเท็จนี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้ดำเนินการติดตามประเด็นนี้ผ่านช่องทางการทูต จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่การเมืองและความมั่นคงของไทยยืนยันข้ออ้างนี้
สถานเอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และมิตรภาพระหว่างสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกันมาโดยตลอด
สถานเอกอัครราชทูตฯ ถือว่าการตีพิมพ์ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และมิตรระหว่างอิหร่าน – ไทย
สถานทูตจะยังคงพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศของเรา
นอกจากนี้ เดอะพับลิกโพสต์ ยังได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ จากการสอบถามความเห็นต่อกรณีดังกล่าวไปยัง “ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี” นักการศาสนาคนสำคัญ และผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทย ซึ่งมีบางช่วงที่สำคัญว่า
“รายงานของบางกอกโพสต์ที่กล่าวหาและพยายามโยงมุสลิมชีอะห์ไทยกับการก่อการร้ายและวินาศกรรมในไทยนั้น ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวรายงานโดยไม่มีจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าวมืออาชีพ
การเขียนข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวนิรนาม และโยงในสิ่งที่แหล่งข่าวพูดกับผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความเสียหายกับมุสลิมชีอะห์ ใส่ร้ายป้ายสีโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่มีการสอบถามอีกฝั่งที่ได้รับผลกระทบ บ่งบอกว่าผู้สื่อข่าวคนนี้ไม่มีความเป็นมืออาชีพพอ ไม่ยึดถือจรรยาบรรณสื่ออย่างที่ควรจะเป็น” ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี กล่าว