แม้ยุทธการศึกในยูเครนยังไม่สะเด็ดน้ำ และมีแนวโน้มขยายวงสู่ประเทศยุโรปในนามนาโต้ แต่รัสเซียได้เดินหน้าประกาศจุดยืน พลิกระเบียบโลกใหม่อย่างไม่เกรงใจสหรัฐอีกต่อไปแล้ว เพราะวันนี้สหรัฐเปิดหน้ากากโหมกำลังทั้งหมดทั้งเศรษฐกิจ การทูต การทหารโถมใส่รัสเซียและพันธมิตรทุกด้าน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ปธน.ปูตินประกาศชัดถึงศูนย์กลางอำนาจแห่งระเบียบโลกใหม่ในลักษณะที่เรียกว่า multi polar power เป็นอำนาจหลายขั้วที่เกิดใหม่แทนที่ อำนาจเดี่ยวที่สหรัฐและตะวันตกครอบงำโลกอย่างเบ็ดเสร็จมาโดยตลอด ว่าจะเกิดขึ้นได้และสำเร็จโดยมหาพันธมิตรยูเรเซีย ขณะเดียวกัน รมว.ต่างประเทศลาฟรอฟก็ออกมาตอกย้ำว่ากลุ่มพันธมิตรซีเอสทีโอ จะเข้ามามีบทบาทประสานในภูมิภาคยุโรปและแอตแลนติกในทุกด้านแทนที่นาโต้ที่เน้นแต่การทหารอย่างเดียว เรียกว่ารัสเซียเดินหน้ารุกคืบทั้งการเมืองและการทหารเต็มที่
วันที่ ๘ มิ.ย.๒๕๖๕ สำนักข่าวทาซซ์ของรัสเซียรายงานว่า เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียให้สัมภาษณ์ เตรียมทำสารคดีเรื่อง “พันธมิตร CSTO – ๓๐ ปีแห่งการพิทักษ์ความมั่นคงร่วม (CSTO Allies – 30 Years on Guard of Collective Security) ว่า องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน หรือซีเอสทีโอ จะเป็นองค์กรสร้างสมดุลในในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติกโดยมีบทบาทครบด้านทั้งเศรษฐกิจ การทูตและความมั่นคง ไม่ได้เน้นแต่การทหารเหมือนนาโต้
สำหรับบทบาทในการผลักดันจัดระเบียบโลกใหม่สวนสหรัฐและตะวันตกนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรีสเซีย ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมเต็มคณะของการประชุมเศรษฐกิจเอเชียครั้งที่ 1 ตอกย้ำบทบาทของมหาพันธมิตรยูเรเซีย หรืเ The Great Urasian Partnership ว่าจะเป็นศูนย์กลางพหุอำนาจแทนที่ตะวันตก สู่ระเบียบโลกใหม่อย่างชัดเจนทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง
ปูตินกล่าวว่า “ภายในกรอบของ The Greater Eurasian Partnership แรงจูงใจของเราไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมือง แต่เป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจค่อยๆเคลื่อนย้ายจากตะวันตก เราตระหนักในเรื่องนี้ และนักธุรกิจของเราต่างตระหนักในเรื่องนี้ ศูนย์กลางอำนาจหลายขั้วกำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไม่ชัดเจน
ปูตินสรุปว่า “Greater Eurasia เป็นโครงการอารยธรรมขนาดใหญ่ ที่มีแนวคิดหลักคือการสร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน สำหรับองค์กรระดับภูมิภาค ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนสถาปัตยกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และรับประกันความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองทั่วทั้งทวีปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยคำนึงถึงรูปแบบการพัฒนา วัฒนธรรม และประเพณีอันหลากหลายของทุกประเทศ ฉันมั่นใจและเห็นได้ชัดว่าศูนย์แห่งนี้ดึงดูดผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และจะมากขึ้นอย่างแน่นอน”
ในด้านบทบาทของซีเอสทีโอซึ่งที่ผ่านมาเด่นชัดตอนที่ช่วย คาซัคสถานปราบกบฎและฟื้นฟูประเทศ ลาฟรอฟกล่าวถึงท่าทีในการประชุมของกลุ่มว่า “มีการอภิปรายอย่างดุเดือดเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการตามการตัดสินใจในการรับรองความปลอดภัยที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นพื้นฐานสำคัญที่รัสเซียนำเสนอสำหรับการอภิปราย”
ลาฟรอฟเปิดเผยว่า “เนื่องจากความมุ่งมั่นหาจุดร่วมที่จะละเว้นจากการเพิ่มความปลอดภัยให้กับใครก็ตามโดยคุกคามผู้อื่นแล้ว ทุกคนยังมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้องค์กรใดๆ ในกรณีนี้หมายถึงนาโต้ (NATO) อ้างสิทธิ์ในบทบาทพิเศษต่อเหตุการณ์และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติก เข้าทำการแทรกแซงไม่ได้อีกต่อไป”
เขาเสริมว่า “เราจะกดดันเพื่อให้ได้คำตอบ ไม่ใช่เพียงสัญญาหรือลงนามอะไรสักอย่าง แล้วทำอะไรก็ได้ตามต้องการ แบบนี้มันไม่ได้ผล นั่นคือเหตุผลที่ CSTO ควรเป็นปัจจัยเงื่อนไขที่จะสร้างความสมดุลในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ลาฟรอฟกล่าวว่า การพัฒนาองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม หรือCSTO ไม่เป็นที่ชื่นชอบของนาโต้ แต่CSTO จะพัฒนาตามความต้องการที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงสร้างความแข็งแกร่งในหมู่สมาชิกต่อไป
ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ ๒๐๐๐ เป็นต้นมา CSTO ได้เชิญนาโต้ให้มาร่วมสร้างกลไกสำหรับการปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือในด้านต่างๆ ของการรักษาความปลอดภัยยูโร-แอตแลนติก โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรอบขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)
แต่สมาชิกของ NATO ยังคงปฏิบัติต่อรัฐและองค์กรอื่นด้วยความเย่อหยิ่ง เพิกเฉยต่อคำขอเหล่านั้น
“หลักของความมั่นคงที่แบ่งแยกไม่ได้ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีและหัวหน้ารัฐบาลของทุกประเทศนาโต้ คาดหวังให้ทุกประเทศทุกกลุ่มประเทศหรือองค์กรละเว้นจากการพยายามอ้างสิทธิ์กระทำการแทรกแซงในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติก แต่การกระทำทุกอย่างของนาโต้ที่ผ่านมา สวนทางกับสิ่งที่สมาชิกกลุ่มเคยสัญญาว่าจะหลีกเลี่ยง ฉีกสัญญาฝ่ายเดียวตลอดมา”
ต้องจับตากันต่อไปว่า เดอะเกรทยูเรเซียนที่กินเนื้อที่และประชากรกว่าค่อนโลก จะกลายเป็นศูนย์อำนาจหลายขั้วในระเบียบโลกใหม่ได้จริงอย่างที่รัสเซียวาดหวังหรือไม่ เพราะสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกที่ครอบงำและครองอำนาจหลักในการต่อรองทุกเรื่องผ่านกลไก องค์กรโลกบาลที่ตั้งขึ้น คงไม่ยอมนิ่งเฉย กระแสการต่อสู้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารนับวันจึงเพิ่มความรุนแรงดุเดือดมากขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้ง!!