จากที่การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงดำเนินอยู่ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และพลังงาน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำอย่างยิ่ง แม้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเองก้ยังออกมายอมรับด้วย
ล่าสุดวันนี้ 09 มิถุนายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก Thailand Vision ได้โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ และท่าทีของทำเนียบขาว ในการจัดการปัญหา รวมทั้งที่มาของวิกฤตดังกล่าวว่า
“สื่อต่างประเทศรายงานว่า ทำเนียบขาว ได้ออกมาระบุว่า ความท้าทายต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ความขัดแย้งในยูเครน คือต้นตอของภาวะเงินเฟ้อสูงลิ่วในสหรัฐฯ ไม่ใช่นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดย คารีน ฌ็อง-ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชน (โฆษกทำเนียบขาว) อวดอ้างว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ฌอง-ปิแอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่กำลังจัดการในเวลานี้คือปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของโลก เศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ในวิกฤตตั้งแต่ตอนที่ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง และมีเพียงสมาชิกเดโมแครตที่โหวตสนับสนนุนแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (American Rescue Plan) ช่วยให้อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นในการจัดการกับเงินเฟ้อ เศรษฐกิจอยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่มันเคยอยู่ในอดีต
นอกจากนี้ ฌ็อง-ปิแอร์ ยังตอกย้ำคำกล่าวหาของทำเนียบขาวที่ว่า ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นเพราะการกระทำของรัสเซียในยูเครน พร้อมระบุว่าประเทศอื่น ๆ ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกัน
“ฉันต้องการให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะว่ามันสำคัญมากเพื่อประชาชนจะได้เข้าใจ ข้อเท็จจริงคือ ปัญหาแบบเดียวกันก็กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในอียู ราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 8.15 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เพิ่มขึ้นมา 1.74 ดอลลาร์ ในเยอรมนี อยู่ที่ 8.88 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เพิ่มขึ้น 2.16 ดอลลาร์ ในแคนาดา อยู่ที่ 6.23 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เพิ่มขึ้น 1.93 ดอลลาร์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย” ฌ็อง – ปิแอร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จอห์นนี โจอี โจนส์ นักข่าวของฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งเป็นนายทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงคำกล่าวอ้างของ ฌอง-ปิแอร์ โดยชี้ว่าราคาเบนซินในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.09 ดอลลาร์ เป็น 3.30 ดอลลาร์ ตั้งแต่ก่อนเกิดกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน และ ตอนที่สงครามเริ่มต้นขึ้น ก็ยังไม่ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงาน
ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชี้เหตุต้นตอภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่วของอเมริกา คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมามากถึง 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ออกมายอมรับเมื่อเร็วๆนี้ ว่าเกิดการคำนวณผิดพลาดทางนโยบายครั้งใหญ่ ที่มีการทำ QE ทางเศรษฐกิจ สั่งพิมพ์เงินเพิ่มมากถึง 38% หรือกว่า 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ อัดเข้าระบบเงินตราโลก โดยไม่มีทองคำค้ำประกันมูลค่าเงินแม้แต่ออนซ์เดียว
“เป็นเป็นการคำนวณผิดพลาดที่สุดในรอบ 50 ปี โดยเพียงแค่เวลาไม่ถึง 2 ปี มีเงินส่วนเกินในระบบเงินหมุนเวียนของโลก จนเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และชาติที่ถือครองดอลลาร์ไว้จำนวนมาก และเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้” เจเน็ต เยลเลน กล่าว