NUG กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาประกาศจัดตั้งกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อบังคับใช้กฎหมายเองในเมียนมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติการต่อต้านกองทัพเมียนมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะมีสำนักงานอยู่ที่ไหนใครเป็นผู้บัญชาการตำรวจ เพราะอยู่ในสถานะเป็นกลุ่มก่อการร้ายตามการระบุของรัฐบาลเมียนมาที่คุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการเจรจาสงบศึกกับกองกำลังชาติพันธ์ุเป็นไปอย่างคืบหน้า โดยเฉพาะรายใหญ่ ทำให้กลุ่มต่อต้านเริ่มเคลื่อนไหวตั้งกองกำลังตำรวจเพิ่มจากประกาศตั้งกองทหารสู้ในเมือง
เอ็นยูจี ตั้งชื่อตัวเองว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) คือกลุ่มต่อต้านรัฐซึ่งส่วนใหญ่คืออดีตสมาชิกพรรคของอองซาน ซูจี ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลสภาบริหารแห่งรัฐ หรือเอสเอซี(SAC) ของเมียนมา
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ สำนักข่าวรอยเตอร์และแชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า กลุ่มเอ็นยูจีนซึ่งตั้งตนเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันอังคารที่ ๗ มิ.ย.๒๕๖๕ ว่ากำลังจัดตั้งกองกำลังตำรวจของตนเอง ในความพยายามดิ้นรนครั้งล่าสุดที่จะขัดขวางการปกครองทีมบริหารพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย
เมียนมายังคงเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่มีการโค่นล้มรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีกลุ่มต่อต้านคณะรัฐประหารเกิดขึ้นทั่วประเทศซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกอย่างโจ่งแจ้ง
รัฐบาลทหารเมียนมาตรากฎหมายระบุฝ่ายต่อต้านว่าเป็นพวกก่อการร้าย ซึ่งรวมถึง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ในนามเอ็นยูจี ซึ่งเป็นการรวมตัวของพันธมิตรกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม สมาชิกของเอ็นยูจีต่างหลบซ่อนตัวอยู่ บ้างอยู่ในเมืองแผงตัวอยู่กับชาวบ้าน บ้างอยู่ในป่าเขา ขณะที่บางคนลี้ภัยอยู่ต่างแดน
กลุ่มเอ็นยูจีนออกแถลงการณ์ในวันอังคารที่ ๗ มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า พร้อมที่จะรับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายในประเทศด้วยกองกำลังตำรวจของตนที่อ้างว่าได้รับการยอมรับจากประชาชน
เอ็นยูจีกล่าวในถ้อยแถลงว่า จุดประสงค์ในการจัดตั้งกองกำลังตำรวจเพื่อปฏิบัติการอย่างถูกกฎหมายต่อต้านการปกครองของคณะผู้บริหารประเทศของกองทัพ ซึ่งมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน, ก่ออาชญากรรมสงครามและกระทำการก่อการร้ายต่อประชาชน ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเอ็นยูจีจะจัดตั้งกองกำลังตำรวจของตนอย่างไร, เมื่อไรและจะเกณฑ์ประชาชนเข้ามาเป็นตำรวจมากน้อยเท่าไร
เอ็นยูจีเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรัฐประหารเมียนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยการจัดตั้งกองทุน, เรียกร้องประชาชนว่าอย่าจ่ายภาษี รวมถึงระดมทุนจากต่างประเทศและประกาศก่อตั้ง “กองกำลังป้องกันประชาชน” โดยมีกองกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพอยู่ในเขตชนบทของเมียนมา
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังกรณีทางการเมียนมาตัดสินประหารชีวิตแกนนำกลุ่มต่อต้าน โดยหนังสือพิมพ์ของทางการเมียนมาเผยแพร่แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ประณามเสียงเรียกร้องจากนานาชาติที่ให้ระงับคำสั่งประหารชีวิตแกนนำต่อต้านรัฐบาล 2 คน
ในแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศเมียนมาระบุว่า มีความไม่พอใจในระดับสูงสุดและขอประท้วงอย่างแข็งกร้าวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสที่เรียกรัฐบาลทหารเมียนมาว่าเป็น รัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมาย การเรียกร้องเช่นนั้นเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา ข้อเรียกร้องเรื่องนี้ของสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศสและยูเอ็น แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ เป็นแถลงการณ์และข้อวิจารณ์ที่ไม่ไตร่ตรองและส่งเสริมการก่อการร้าย
ศาลทหารเมียนมาตัดสินประหารชีวิตจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และพิว เซยาร์ ตอ อดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย แต่ยังไม่ได้ระบุวันประหารชีวิต
ท่ามกลางข่าวสหรัฐและตะวันตกยังกดดันทางการทูต และเศรษฐกิจต่อเมียนมาการเดินหน้าสันติภาพของรัฐบาลเมียนมารุกคืบเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมใจกันเจรจา
ความพยายามเพื่อแสวงหาสันติภาพเริ่มก้าวหน้า เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์์์สำคัญๆ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมามากว่าหกสิบปี ตอบรับคำเชิญของ พลเอกมิน อ่อง หล่ายให้มาร่วมประชุมที่เหมือนกับการประชุมสุดยอดผู้นำกลายๆ เพื่อเจรจาแสวงหาสันติภาพ ซึ่งอาจขยายความไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสหพันธรัฐสหภาพเมียนมา
หลังจากการเจรจารอบแรก เมื่อวันที่ 20 พ.ค.รัฐบาลทหารเมียนมาแถลงว่า การเจรจาเบื้องต้นได้ผลดีมาก “คณะผู้บริหารแห่งรัฐ (State Administration Council =SAC) ไม่ขัดข้องหากกลุ่มชาติพันธุ์์ส่วนใหญ่เห็นว่าสหภาพเมียนมาควรปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย” พลตรีซอ มิน ตุนโฆษกรัฐบาลทหาร หรือ SAC กล่าว และเสริมว่า “ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์์แบ่งแยกประเทศทำไม่ได้”
กลุ่ม RCSS (ฉานใต้)โดยการนำของ“เจ้ายอดศึก”ซึ่งได้พบกับ SAC เป็นกลุ่มแรกและได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน
เจ้าคืนใส ใจเย็น กล่าวว่า“ในเบื้องต้นเราพูดกันสองประเด็นคือปกครองประชาธิปไตยหลายพรรค และ การปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ในวันแรกได้พูดกันแค่นั้นส่วนข้อสรุปเป็นอย่างไรต้องให้รอให้ทุกกลุ่มได้เจรจากับ SAC ก่อน”
SAC ซึ่ง พลเอก มิน อ่อง หล่าย เป็นประธานจัดให้ชาติพันธุ์์แต่กลุ่มแยกกันพบปะเจรจาและให้เวลาแต่ละกลุ่มห่างกันสามวันนั้นหมายความต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามสิบวัน หรือมากกว่านั้นก่อนจะหาข้อสรุปได้
พลตรีซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมาบอกกับวิทยุเอเชียเสรี(FRA)ว่า “กลุ่มชาติพันธุ์์์ส่วนใหญ่ตอบรับคำเชิญว่าจะมาร่วมประชุม”
พลเอกมิน อ่อง หล่าย ออกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เชิญกลุ่มชาติพันธุ์์์ทุกกลุ่มในสหภาพเมียนมามาร่วมพูดจาเพื่อแสวงหาสันติภาพและเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาทางการเมืองให้กว้างขวางออกไป
ในคำเชิญได้บอกด้วยว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมพูดจากับทุกฝ่ายด้วยตัวเอง ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์์์ที่เข้าเจรจาต้องตอบว่าจะมาร่วมประชุมหรือไม่ ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. รัฐบาลแถลงว่า กลุ่มชาติพันธุ์์์ทั้งหมดที่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2548 ตอบรับเข้าร่วมประชุมเจรจา แต่ครั้งนี้มีพิเศษตรงที่กลุ่มชาติพันธุ์์์ “ว้า”(United Wa State Party) ตอบรับเข้าร่วมประชุมด้วย
“ว้า” เป็นชาติพันธุ์์์ที่มีกองกำลังติดอาวุธใหญ่ที่สุดและเข้มแข็งที่สุดกว่ากองกำลังชาติพันธุ์์ใดๆในเมียนมา ประมาณการว่ากองทัพว้า (United Wa State Army=UWSA)มีนักรบติดอาวุธกว่าสามหมื่นนาย และว้าไม่เคยลงนามหยุดยิงหรือร่วมเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมามาก่อน
ปัจจุบัน ว้า เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ ปะโอ ปะลองที่มีเขตปกครองตนเองอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน “ว้า เรียกพื้นที่อิทธิพลของเขาว่าเป็นเขตปกครองพิเศษมานานแล้วแต่คิดว่าเรื่องนี้เจรจากันได้ ความจริงฝ่ายทหารเมียนมาเขาเตรียมการเรื่องสหพันธรัฐมานานแล้ว แต่ไม่ทำหรือทำไม่ได้ในสมัยนางออง ซานซู จี”
สถานการณ์การเจรจาเข้าทางรัฐบาลเมียนมา ทำให้กลุ่มต่อต้านยิ่งเร่งเร้าความรุนแรงและกดดันให้ตะวันตกหนุนช่วยมากขึ้นอย่างแน่นอน การประกาศจัดตั้งกำลังตำรวจเท่ากับเปิดแนวรบในเมืองเพื่อประสานกับกองกำลังในป่าเขา ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่ง่ายนัก หากสถานการณ์การสู้รบฝ่ายต่อต้านได้เปรียบ รัฐบาลเมียนมาคงไม่ประกาศเปิดประเทศหากไม่มั่นใจว่าจะกุมสถานการณ์ได้!?