จากกรณีเมื่อหลายปีก่อนปรากฏข่าวสารการลักพาตัวสื่อมวลชนชื่อดังระดับโลก ที่ว่ากันว่าออกมาตีแผ่ความเลวร้ายของรัฐบาลอเมริกา จนกระทั่งถูกจับกุมตัว และนำขึ้นสอบสวนต่อศาล ซึ่งมีความเกี่ยวโยงถึงหน่วยข่าวของสหรัฐด้วยนั้น
ทั้งนี้ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความลง Blockdit ในวันนี้ 07 มิถุนายน 2565 ถึงคดีลักพาตัว และความเชื่อมโยงของสำนักข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ ว่า “ไมค์ ปอมเปียวโดนศาลสเปนเรียกมาชี้แจงกรณีวางแผนลักพาตัวหรือสังหาร จูเลี่ยน อัสสังค์:
ไมค์ ปอมเปียว อดีตผู้อำนวยการ CIA โดนศาลสเปนเรียกไปชี้แจงกรณีออกปากอย่างโจ่งแจ้งว่าจะลักพาตัว และวางแผนฆ่าจูเลี่ยน อัสสังค์ สื่อเจ้าของวิกิลีกส์ ที่แฉอาชญากรรมของอเมริกาในอัฟกานิสถาน
อเมริกาทนสื่อแฉอาชญากรรมตนไม่ค่อยได้ ใครแฉทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กที่มีคนติดตามเยอะๆ ต่างไล่ปิดเป็นแถว ไบรอัน เบอร์เลติก อดีตนาวิกโยธินมะกันที่มาปักหลักอยู่ในประเทศไทยและแฉประจำก็โดนปิดปากไปแล้วจากช่องยูทูป เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
เพจ FB ผมที่เคยมีคนติดตาม ๙ หมื่นกว่าคนก็โดนปิด บัญชี FB ที่เปิดใหม่ซึ่งมีคนติดตามไม่ถึง ๒ พันคนนี้ก็ดูจะติดขัดอยู่บ่อยๆแต่ระยะหลัง ปิดไม่ค่อยไหวครับ เพราะวิญญูชนอเมริกาและยุโรปแฉหนักมากยิ่งขึ้น สร้างช่องทางเลือกมาแฉก็มี
ข่าวนี้ ไม่ปรากฎตามสื่อกระแสหลักของไทยทั่วไปนะครับ เพราะสื่อกระแสหลักของยุโรปและอเมริกาซึ่งเปรียบเหมือนเป็น *บิดา* แห่งสื่อต่างประเทศของไทยพากันไม่ลงเป็นข่าว พอบิดาไม่ลงเป็นข่าว ลูกๆ ซึ่งวันๆ ตามก้นฝรั่งเขาตลอดก็พากันไม่ลงเป็นข่าว ขณะนี้ สื่อข่าวต่างประเทศกระแสหลักของไทยเป็นอย่างนี้กันเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามทีมข่าวเดอะทรูธ ตรวจสอบถึงคดีสำคัญนี้ก็พบว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ Al Jazeera รายงานว่า ศาลอังกฤษกลับคำพิพากษาเปิดทางให้ส่งตัวนายจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ไปดำเนินคดีตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ ในข้อหาจารกรรมข้อมูลรัฐบาล แล้วนำมาเปิดโปงต่อสหรัฐฯ ผ่านเว็บไซต์วิกิลีกส์
ก่อนหน้านี้ศาลอังกฤษไม่อนุญาตให้ส่งตัวนายอัสซานจ์ไปสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า สภาพจิตใจของนายอัสซานจ์ย่ำ แย่จนอาจฆ่าตัวตายในคุกอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การขออุทธรณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่คำตัดสินล่าสุดจากศาลอังกฤษยกเหตุผลว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการกักขังตัวนายอัสซานจ์แล้ว
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งข้อหานายอัสซานจ์ว่า จารกรรมข้อมูลของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของกองทัพสหรัฐฯ และเอกสารลับทางการทูตไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ
รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า การจารกรรมข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันที่เกี่ยวข้องตกอยู่ในอันตราย แต่ในอีกมุมหนึ่ง กรณีของวิกิลีกส์ก็ถูกตั้งคำถามว่า นี่ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลรัฐบาลอย่างเสรีหรือไม่
เว็บไซต์วิกิลีกส์ก่อตั้งเมื่อปี 2549 มีเนื้อหาเปิดโปงข้อมูลและเอกสารลับของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนายอัสซานจ์ในฐานะผู้ก่อตั้งเคยถูกทางการสวีเดนตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเขาอ้างว่ามีจุดประสงค์ทางการเมืองเบื้องหลัง ก่อนที่เขาจะได้รับอนุญาตลี้ภัยภายในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนของอังกฤษ แต่ในเวลาต่อมาทางการเอกวาดอร์ไล่เขาออกจากสถานทูต นำไปสู่การจับกุมในที่สุด