“ปูติน” เมินบริษัทต่างชาติถอนตัว! ลั่นรัสเซียไม่โดดเดี่ยว เพราะศูนย์กลางอำนาจศก.โลกเปลี่ยนขั้วไปเอเชียแล้ว
จากกรณีที่ แมคโดนัลด์ (McDonald’s) แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ประกาศถอนตัวจากรัสเซีย และเตรียมขายธุรกิจ หลังจากดำเนินกิจการร้านอาหารในรัสเซียมา 32 ปี โดยก่อนหน้านี้แมคโดนัลด์เป็นเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ยังไม่ถอนตัวจากรัสเซียอย่างเป็นทางการ แม้จะสั่งปิดร้านทุกสาขา
แมคโดนัลด์กล่าวว่า วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซียและสภาพแวดล้อมการทำงานที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้แบรนด์ที่ดำเนินกิจการต่อเนื่องในรัสเซียนั้น “ไม่สามารถอยู่ต่อได้อีกต่อไปและไม่สอดคล้องกับค่านิยมของแมคโดนัลด์”
ขณะที่ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย มองว่า การใช้ปฏิบัติการทางทหารบุกยูเครนจะเป็นจุดเปลี่ยนบนหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ซึ่งแสดงถึงการต่อต้านสหรัฐ โดยเขาระบุว่า ทำให้รัสเซียต้องเสียเกียรติมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งสหภาพโซเวียตล่มสลายลง
“การที่บริษัทต่างชาติถอนธุรกิจออกไป เราต้องขอบคุณพระเจ้า จริงไหม? เพราะเราจะได้ครองตลาดแทนเหล่านั้น ธุรกิจ และภาคการผลิตของเราเองก็เติบโตขึ้นมาแล้ว และจะอยู่ในสถานะที่มั่นคงหลังผ่านการเตรียมพร้อมจากพันธมิตรของเรา” ประธานาธิบดี ปูติน กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์กับบรรดาผู้นำประเทศที่เคยเป็นสมาชิกอดีตสหภาพโซเวียต
นอกจากนี้ ประธานาธิบดี ปูติน ยังระบุว่า “ความพยายามของชาติตะวันตกที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียนั้นจะไม่สำเร็จ เพราะประเทศพัฒนาแล้วก็กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และวิกฤติขาดแคลนอาหาร เนื่องจากศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนขั้วไปเอเชียแล้ว
มาตรการที่ชาติตะวันตกใช้คว่ำบาตรรัสเซียนั้นส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีปูติน เชื่อว่ารัสเซียสามารถรับมือกับการคว่ำบาตรได้ โดยขณะนี้รัสเซียหันไปหาจีน อินเดีย และขั้วอำนาจอื่น ตัวแทนภาคธุรกิจของเรานั้นเผชิญปัญหา โดยเฉพาะด้านห่วงโซ่อุปทาน และการขนส่ง แต่ถึงอย่างนั้น เราเชื่อว่าทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และทุกอย่างสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้” ประธานาธิบดีปูติน กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปี 2022 สหรัฐ ปั่นยุโรปเข้าเป็นปฏิปักษ์รัสเซีย แต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แค่ช่วง 4 เดือนแรกของปี ส่งผลยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน พลิกกลับมามหาศาลพุ่งเกือบ 290,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้อาเซียนชนะยุโรป กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของจีนอีกครั้ง
การผงาดขึ้นของจีนในอาเซียน ทำให้สหรัฐ ถึงกับตาร้อนผ่าว กลางเดือน พ.ค.65 ทำเนียบขาวจึงบีบแกมบังคับให้ผู้นำประเทศอาเซียนไปประชุมสุดยอดที่วอชิงตัน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ มามุกใหม่หวังสร้าง “NATO Asian” ไปพร้อมกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ของกลุ่ม QUAD+AUKUS หรือฉายา “NATO version2” โดยให้คำมั่นสัญญาที่หยอดเงินน้อยนิดลงทุนใน 10 ประเทศ ภูมิภาคอาเซียนเพียง 150 ล้านดอลลาร์ (เฉลี่ยเพียงประเทศละ 15 ล้านดอลลาร์)
ในขณะที่อาเซียน จึงคบได้กับทุกฝ่าย เป็นกลาง ไม่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใดเด่นชัด ไม่ให้ใครตั้งฐานทัพติดตั้งขีปนาวุธ ฝ่ายใดเปย์หนักให้อาเซียนมากกว่า เน้นแนวทางสันติภาพมากกว่า ทั้งนี้ อาเซียน ยังมีนโยบายเฉียบคมกว่ายุโรป แม้ที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างจีน-ยุโรป กับ จีน-อาเซียน จะเบียดสูสีกัน แต่ยามวิกฤติเผชิญหน้า อาเซียนชนะ เพราะไม่ยอมถูกใช้เป็นเครื่องมือสหรัฐ ปั่นให้คว่ำบาตรใคร อันจะทำให้เศรษฐกิจ ความมั่นคง กระเพื่อมผันผวนไม่มั่นคงในภูมิภาค เกิดวิกฤติเหมือนยุโรปกำลังเผชิญ จนนักลงทุนตะวันตกย้ายออกมุ่งมาอาเซียน เพราะตราบที่ยุโรป ยังสลัดอิทธิพลไม่ให้สหรัฐ อังกฤษ ขี่หลังกุมบังเหียนไม่ได้ ภูมิภาคยุโรปก็จะไม่มีความปลอดภัย ไม่มั่นคง ดังนั้นอาเซียน จึงเป็นภูมิภาคตัวเลือกถิ่นฐานการลงทุนที่ปลอดภัยจากสงครามมากที่สุดในระยะยาว