หลังจากที่ผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ทำให้ ชัชชาติ มีชัยชนะคะแนนนำลิ่ว จนหลายฝ่ายมองเรื่องนี้ว่า เป็นผลคะแนนสะท้อนภาพคนที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมือง และกลุ่มไม่ได้ติดยึดกับอุดมการณ์ขั้วสีใด ทำให้มีการมองการเมืองที่ลึกลงไปถึงอนาคตว่า อาจจะมีการเปลี่ยนขั้ว หากฝ่ายที่กลุ่มม็อบเชียร์ ได้แลนด์สไลด์ครั้งใหญ่ระดับประเทศ
ล่าสุดรศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหา ว่าบังเอิญไปเปิดดูรายการย้อนหลังรายการหนึ่ง มีนักวิชาการชื่อดังท่านหนึ่งแสดงความเห็นอย่างมั่นใจกรณีที่ รศ.ดร.ชัชชาติ ได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลายว่า คะแนนเสียงส่วนหนึ่งได้มาจากกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐประหารแต่เมื่อภายหลังจึงได้เห็นว่า การรัฐประหารทำให้ได้รัฐบาลแบบนี้ จึงเปลี่ยนใจมาลงคะแนนให้คุณชัชชาติ
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ออกไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ภายใต้การกำกับดูแลและสั่งการของคุณทักษิณ ตั้งแต่ที่สามเสน มาที่ราชดำเนิน ศูนย์ราชการ ปทุมวัน และสวนลุมพินี พวกเราส่วนใหญ่ที่ไปร่วมชุมนุม ไม่มีใครสนับสนุนการทำรัฐประหาร แต่ที่ไม่มีใครเคลื่อนไหวคัดค้านเมื่อเกิดรัฐประหาร ก็เนื่องจากเรามองไม่เห็นทางออกทางอื่น เพราะรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์พยายามทำทุกวิถีทางที่จะอยู่เป็นรัฐบาลต่อไป ซึ่งก็เชื่อได้ว่า นั่นไม่ใช่การตัดสินใจของคุณยิ่งลักษณ์เอง
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หากตัวแทนรัฐบาลรักษาการตอบคำถามของพลเอก ประยุทธ์ว่า “รัฐบาลพร้อมลาออก” แทนที่จะตอบว่า “นาทีนี้ รัฐบาลไม่ลาออก” ก็ไม่มีการทำรัฐประหารแน่นอน เพราะไม่มีเหตุที่จะต้องทำ ที่ว่าการทำรัฐประหารทำให้ได้รัฐบาลแบบนี้ หากหมายถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน คงมีการเข้าใจผิดอะไรสักอย่าง เพราะรัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชน ไม่ได้มาจากการทำรัฐประหาร แต่ให้ตายเถอะ หากเราดูรายชื่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนนอก ไล่มาตั้งแต่รัฐบาลอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ รัฐบาลคุณ ธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนถึงรัฐบาล คสช. แล้วนำมาเปรียบเทียบรายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกชุด รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถามว่าโดยรวม คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแบบไหนมีคุณภาพมากกว่ากัน
เปล่าครับ ผมยังไม่ได้เปลี่ยนใจหันไปสนับสนุนการทำรัฐประหารแต่อย่างใด แต่อยากให้ยอมรับกันเสียทีว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบเดิม ที่เรียกว่า เป็นประชาธิปไตย น่าจะไม่ใช่วิธีที่จะได้รัฐบาลที่มีคุณภาพสูง เพราะเราพยายามกันมากว่า 80 ปีแล้ว เปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ฉบับ ยังไม่เคยได้รัฐบาลที่ดีเลยสักชุด และอย่าได้โทษว่าเป็นเพราะมีการทำรัฐประหาร เพราะเวลา 80 ปีมากพอที่จะให้ประชาชานเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะมีการทำรัฐประหารหรือไม่
พนันได้เลยว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หากมี landslide เกิดขึ้นจริง รัฐบาลใหม่ที่จะขึ้นมา ก็ไม่มีทางมีคณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพดีกว่าชุดปัจจุบัน ทั้งยังเป็นไปได้ด้วยว่า จะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาในบ้านเมืองอีกครั้ง และครั้งนี้อาจจะถึงระดับ สงครามกลางเมืองเลยทีเดียว