ไบเดนไม่ขลัง!!ประชุมQUAD กร่อย แค่บ่นกังวลสงครามยูเครน ขู่จะส่งโดรนจับตาจีนในทะเลไม่กล้าเปิดหน้าชน

0

การเยือนเอเชียครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯจบลงที่การประชุมกลุ่มพันธมิตรQUAD ซึ่งทั้งจีนและรัสเซียต่างจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จะมีแถลงการณ์ร่วมออกมาอย่างไร สุดท้ายก็ไม่ได้เปิดเผยท่าทีหนักแน่นรุนแรงต่อรัสเซียและจีนอย่างที่หลายฝ่ายจับจ้อง แม้จะดูเหมือนว่าเป็นการเคลื่อนไหวเชิงรุกของสหรัฐต่ออาเซียนและทะเลจีนใต้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เนื้อหาคำแถลงร่วมของQUAD ได้สะท้อนภาพความเป็นพันธมิตรอย่างหลวมๆของประเทศสมาชิก ด้วยผลประโยชน์ร่วมที่แตกต่างกัน ความหวังของสหรัฐในการให้กลุ่มพันธมิตรร่วมประณามรัสเซียและจีนอย่างเป็นทางการจึงล้มเหลว

วันที่ 24 พ.ค.2565 สำนักข่าวรอยเตอร์และโกลบัลไทมส์รายงานการเคลื่อนไหวของผู้นำกลุ่มควอด ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย พบกันที่โตเกียวได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ทั้งหมดได้หารือเกี่ยวกับการรับมือความขัดแย้งในยูเครน และวิกฤตมนุษยธรรมที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยไม่มีการระบุถึง “รัสเซีย” แม้แต่คำเดียว ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการโอนอ่อนให้อินเดียที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโกว์เพื่อให้ลงนามแถลงการณ์ร่วมได้

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า ผู้นำทั้ง 4 ที่รวมถึงนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย แสดงความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับยูเครน และเห็นพ้องเกี่ยวกับความสำคัญของหลักนิติธรรม อธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดน

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกาเมื่อวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นที่สนใจของคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ และสื่อมวลชน

แม้กฎหมายกำหนดให้อเมริกาต้องมอบความช่วยเหลือเพื่อให้ไต้หวันป้องกันตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมา วอชิงตันยึดถือนโยบาย “ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์” เวลาถูกตั้งคำถามว่า อเมริกาจะแทรกแซงทางทหารเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ในกรณีที่ถูกจีนโจมตี แต่ดูเหมือนไบเดนได้ฉีกนโยบายนี้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์

จีนนั้นถือว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ของตนเอง และระบุว่า ไต้หวันเป็นประเด็นอ่อนไหวและสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์กับวอชิงตัน

นักวิจารณ์บางคนระบุว่า ไบเดนพูดผิด แต่นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ทักท้วงว่า ประสบการณ์ยาวนานด้านนโยบายต่างประเทศของไบเดน และการที่เขาเลือกพูดเรื่องนี้ระหว่างที่นั่งอยู่ข้างคิชิดะ และหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน บ่งชี้ว่า ประมุขทำเนียบขาวไม่ได้พูดผิด โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้เมื่อวันจันทร์ว่า ปักกิ่งไม่มีทางประนีประนอมหรือยอมอ่อนข้อเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของประเทศ

นอกจากประเด็นไต้หวันแล้ว ไบเดนยังประณามการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนของรัสเซียว่า ตอกย้ำความสำคัญของเป้าหมายของหลักการพื้นฐานของระเบียบโลก อธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของประเทศ และเสริมว่า กฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะมีการละเมิดที่ใดในโลกก็ตาม ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า มีแต่สหรัฐเท่านั้นที่ทำได้ ผู้อื่นทำล้วนผิด

คิชิดะประณามรัสเซียเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า การยุกยูเครนส่งผลสั่นสะเทือนต่อรากฐานระเบียบโลก และท้าทายโดยตรงต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อีกทั้งต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในอินโด-แปซิฟิก ด้านไบเดนขานรับว่า อเมริกาจะเคียงข้าง “หุ้นส่วนประชาธิปไตยที่ใกล้ชิด” ผลักดันให้ภูมิภาคนี้เปิดกว้างและเสรีในแบบสหรัฐเท่านั้น

ด้านอินเดียทำให้อเมริกาขุ่นใจจากการไม่สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและไม่ประณามการที่มอสโกว์ปฏิบัติการพิเศษทางทหารกับยูเครน ซึ่งทางทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนประณามรัสเซียระหว่างประชุมทวิภาคีกับโมดี แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้นำอินเดียเห็นด้วยหรือไม่

แม้อินเดียพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกาในช่วงหลายปีมานี้ และยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในกลุ่มควอด แต่ขณะเดียวกัน อินเดียมีความสัมพันธ์มายาวนานกับรัสเซียที่ยังคงเป็นซัปพลายเออร์หลักด้านอาวุธและน้ำมันของอินเดีย

ทางฝ่ายแอนโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย กล่าวว่า ในที่ประชุมควอดมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับรัสเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ

อัลบานีส ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของตนคือปรับแนวทางให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของกลุ่มควอด และแจ้งกับผู้นำอื่นๆ ว่า ออสเตรเลียต้องการให้ทั้ง 3 ประเทศเป็นแกนนำการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เพื่อตอบสนองต่อผลการประชุมสุดยอด Quad เกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลของจีนและการโฆษณายั่วยุในประเด็น”ภัยคุกคามจากจีน” ทางการจีนแถลงตอบโต้ทันที

หวัง เวียนบิน(Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน  กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า“จีนเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก เป็นผู้มีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาโลก และผู้พิทักษ์ระเบียบระหว่างประเทศมาโดยตลอด เราจะไม่ยอมให้ประเทศใดๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของจีน และทำลายภาพลักษณ์ระดับนานาชาติของจีน” พร้อมเสริมว่า “เราหวังว่าบางประเทศจะไม่เห็นจีนผ่านกระจกสีและกล่าวหาอย่างไม่สมควร ซึ่งเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง และความร่วมมือทางทะเลอย่างแท้จริง”

ซุน เฉิงเห่า นักวิจัยจากศูนย์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่า การปรับเกณฑ์การเคลื่อนไหวในกลุ่มให้แคบและเล็กลง  เป็นไปเพื่อพยายามดึงดูดผู้เข้าร่วมให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของ Quad ทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้นไปด้วย 

ฉู เฟิง(Zhu Feng) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยหนานจิงกล่าวว่า “กลไก Quad เน้นย้ำการกำหนดเป้าหมายไปที่จีน และประสานการนำของสหรัฐฯ ด้วยการขยายพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยผลักดันให้ประเทศในเอเชียเปลี่ยนไปพึ่งสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการค้าจะเป็นวิธีหนึ่งในการแยกจีนออกห่าง  เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐฯ คือการบังคับให้พวกเขาเข้าข้างสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์เหนือจีน และสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อจีน”

ที่สำคัญกลุ่มต่อต้านสงครามของคนญี่ปุ่นประท้วงต่อต้านการประชุม Quad ท่ามกลางการเยือนของ Biden ส่งสัญญาณว่า ท่าทีของผู้นำอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง